เปลี่ยนทรัพยากรท้องถิ่นเป็นนวัตกรรมการศึกษา "ลูกปรง สู่บทเรียนชีวิต"

21 ตุลาคม 2024

วันที่ 27 – 30 สิงหาคม 2567 นายสุวิทย์ บึงบัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตรและสื่อการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี พร้อมคณะทำงานจากสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นผู้แทน สพฐ. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และให้กำลังใจสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุโขทัย จำนวน 14 แห่ง โดยวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนเชิงคีรี (สุวิชานวรวุฒิ) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1




ในวันที่ 27 สิงหาคม 2567 ได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนเชิงคีรี (สุวิชานวรวุฒิ) ได้รับการต้อนรับจาก นางสาวกุสุมา รอบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนเชิงคีรี (สุวิชานวรวุฒิ) และคณะครู โดยมีคณะกรรมการติดตาม ประเมินผลความก้าวหน้า การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรรมการศึกษา นำโดยนายสุวิทย์ บึงบัว ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตร นายเก ประเสริฐสังข์ นักวิชาการศึกษาชำนาญการ พร้อมคณะ และคณะศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุโขทัย เขต 1 การเยี่ยมชมครั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนะ เพื่อให้คำแนะนำในการดำเนินการขับเคลื่อนโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสุโขทัย 

โรงเรียนเชิงคีรี(สุวิชานวรวุฒิ) ได้นำเสนอนวัตกรรมการศึกษา โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แป้งจากลูกปรง ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอน นวัตกรรมดังกล่าวเป็นการนำกระบวนการการเก็บของป่ามาปรับใช้กับการเรียนการสอนนักเรียนระดับประถมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ โรงเรียนได้นำแนวคิดการพัฒนานี้มาปรับเป็นหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาผู้เรียน เช่น  วิชาเพิ่มเติม IS และหลักสูตรระยะสั้น เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน นวัตกรรมนี้ยังช่วยส่งเสริมให้นักเรียนมีความเข้าใจในกระบวนการผลิตแป้งจากลูกปรง และเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

จากการลงพื้นที่เยี่ยมชมและให้กำลังใจของคณะทำงานและศึกษานิเทศก์ พบว่า โรงเรียนเชิงคีรี (สุวิชานวรวุฒิ) ได้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการนำทรัพยากรท้องถิ่นและนวัตกรรมการศึกษามาบูรณาการกับกระบวนการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ การใช้แป้งจากลูกปรงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการบูรณาการวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับการศึกษา ซึ่งทำให้นักเรียนได้เรียนรู้ทั้งในด้านวิชาการและการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็น การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการให้คำแนะนำจากคณะกรรมการยังสะท้อนถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างสถานศึกษาและหน่วยงานภายนอก ในการส่งเสริมและผลักดันนวัตกรรมการศึกษาให้ก้าวหน้า


 

 

 

 

ติดตามอื่น ๆ ได้ที่

 


ผู้เขียน: ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์
Editor & Design: อิศรา โสทธิสงค์

Facebook Comments
การพัฒนาระบบประกันฯ ภายในสถานศึกษาและการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา
บทความล่าสุด