โรงเรียนพื้นที่นวัตกรรม จ.นราธิวาส พาเด็กเรียนรู้นอกตำรา แสวงหาความรู้นอกโรงเรียน

11 ธันวาคม 2019

            เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 นายอโณทัย ไทยวรรณศรี ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) มอบให้ นายพิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สบน. ร่วมกิจกรรมถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และโครงการ Teams for Education (TFE) ของจังหวัดนราธิวาส จำนวน 9 โรงเรียน ณ โรงเรียนนราสิกขาลัย อ.เมือง จ.นราธิวาส จัดโดยสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ร่วมกับศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนที่ร่วมกิจกรรมครั้งนี้มี 9 โรงเรียน ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีครูเข้าร่วม 5 คน นักเรียน 5 คน และโรงเรียนลำดับที่ 1 – 4 เป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส
            1) โรงเรียนบ้านสะโล
            2) โรงเรียนบ้านตือมายู
            3) โรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก
            4) โรงเรียนบ้านตาโงะ
            5) โรงเรียนบ้านสก
            6) โรงเรียนบ้านกาเด็ง
            7) โรงเรียนบ้านมูโนะ
            8) โรงเรียนบาเจาะ
            9) โรงเรียนปาลอบาต๊ะ

            การจัดกิจกรรมถอดบทเรียนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ครั้งนี้ จัดโดยกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ประสานงานหลักโดยนางปัทมาวดี ขันธ์ชัย ศึกษานิเทศก์ ศธจ.นราธิวาส มีอาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นวิทยากร จำนวน 3 คน ประกอบด้วย
            1) รองศาสตราจารย์ ดร. พรพันธุ์ เขมคุณาศัย อาจารย์สาขาภาษาไทย
            2) อาจารย์ปริยากรณ์ ชูแก้ว อาจารย์สาขาภาษาไทย
            3) อาจารย์ ดร. นวิทย์ เอมเอก อาจารย์สาขาการจัดการทรัพยากรมนุษย์

            กิจกรรมการถอดบทเรียน แบ่งเป็น 2 ห้อง แยกจากกันระหว่างครูและนักเรียน โดยประเด็นในการถอดบทเรียนห้องครู เป็นการให้ครูสะท้อนเกี่ยวกับเป้าหมาย วิธีการ/กระบวนการ/ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ของแต่ละโรงเรียน รวมทั้งประโยชน์ และข้อจำกัดในการดำเนินการ ส่วนห้องนักเรียน มีกิจกรรมให้นักเรียนทำแผนที่การเรียนรู้เพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ให้นักเรียนทำแผนภาพความคิดสรุปผลการเรียนรู้ และให้นักเรียนลองออกแบบห้องเรียนในจินตนาการ

            สำหรับส่วนหนึ่งของผลจากการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนครั้งนี้ ขอนำเสนอบางโรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนบ้านสะโล 2) โรงเรียนบ้านตือมายู 3) โรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก และ 4) โรงเรียนบ้านตาโงะ ดังนี้

1) โรงเรียนบ้านสะโล

            เป้าหมายให้นักเรียนสร้างชิ้นงานจากแหล่งเรียนรู้ ใช้กิจกรรม active learning ให้นักเรียนลงมือปฏิบัติ ขั้นตอนดำเนินการ เริ่มด้วยการประชุมครู หารือถึงความต้องการจำเป็น ได้ประเด็นพัฒนาการอ่าน/การเขียน แต่คิดว่าเด็กขาดทักษะการเขียนมากกว่า จึงพัฒนาทักษะการเขียนก่อน ได้วางแผนให้เด็กไปใช้แหล่งเรียนรู้คือ น้ำตก สถานีรถไฟ และต้นลองกอง 200 ปี โดยการให้เด็กสำรวจเส้นทาง แล้วศึกษาจากวิทยากรพื้นที่ ฝึกเขียนจากชุดฝึก 6 ชุด แล้วนำไปสู่การเขียนเชิงสร้างสรรค์ ครูกำหนดชิ้นงานให้นักเรียน อาทิ เขียนลงบรรจุภัณฑ์ต่างๆ เขียนลงเสื้อที่ระลึกจากน้ำตก กระเป๋าผ้ารถไฟ จากการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้นักเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ กล้าแสดงออก คิดวิเคราะห์ ส่วนครูได้ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้ที่เน้น active learning มากขึ้น ส่วนข้อจำกัดของการจัดกิจกรรมนี้คือ เรื่องเวลา งบประมาณ และนักเรียนยังไม่ได้ฝึกทักษะได้มากเท่าที่มุ่งหวัง

2) โรงเรียนบ้านตือมายู

            โรงเรียนต้องการให้นักเรียนที่จบชั้น ม.3 ได้เข้าเรียนสายอาชีพ และได้มีอาชีพที่ต้องการ สำหรับการจัดการเรียนการสอนได้พานักเรียนไปทัศนศึกษาโรงเรียนชาวนา เพื่อให้เห็นความสำคัญของอาชีพและเป็นการสำรวจอาชีพในชุมชนไปด้วย สิ่งที่เด็กได้เห็นอาชีพในชุมชน อาทิ การทำกล้วยฉาบ ฟาร์มตัวอย่าง กรีดยาง ทำลูกชิ้น ขณะนี้ครูจัดกิจกรรมได้เพียงขั้นสำรวจอาชีพ เนื่องจากเวลาไม่เอื้ออำนวย สิ่งที่สังเกตเห็นคือ เด็กมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และได้ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ส่วนครูได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ไปพร้อมเด็ก ข้อจำกัดในการจัดกิจกรรมคือ เวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมไม่ต่อเนื่อง งบประมาณไม่เพียงพอ และยังมีความร่วมมือไม่มากนักจากผู้ปกครองและชุมชน

3) โรงเรียนบ้านสุไหงโก-ลก

            โรงเรียนมีเป้าหมายให้นักเรียนเป็นผู้ประกอบการ โดยใช้จุดเด่นของชุมชนในเรื่องการค้าชายแดนระหว่างประเทศ จะเน้นการส่งเสริมความรู้ (knowledge) คุณธรรม (moral) และทักษะ (skill) ครูจัดการเรียนรู้แบบ active learning ในการจัดการเรียนรู้แต่ละชั้นเรียน จะมีจุดเน้นเฉพาะที่แตกต่างกัน สำหรับนักเรียนชั้น ป.5 เด็กได้เรียน สี่สหายชวนชิม คือ กล้วยฉาบ มันฉาบ เผือกฉาบ และฟักทองฉาบ จากสิ่งที่เรียนนำมาสู่สาระวิชา ทั้ง 8 กลุ่มสาระ เช่น ภาษาไทย-ทักษะการเขียน, วิทยาศาสตร์-สารละลาย, สังคมศึกษา-ผู้ผลิตผู้ประกอบการ, กอท.-แปรรูป ทำป้ายสินค้า, ภาษาอังกฤษ-พูดสื่อสาร แสดงขั้นตอน, คณิตศาสตร์-เปรียบเทียบราคา สำรวจตลาด บัญชีรายรับรายจ่าย คิดต้นทุน ทำให้เด็กได้ผลการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง ส่วนข้อจำกัดเป็นเรื่องของเวลา งบประมาณ ภาระงานครู และการสอบเรียนต่อของนักเรียนทำให้ลงมือปฏิบัติได้ไม่มากนัก สิ่งดีที่พบ คือ เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องพื้นที่ ได้วัดผลแนวใหม่ ผู้ปกครองสนับสนุน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมกับโรงเรียน

4) โรงเรียนบ้านตาโงะ

            โรงเรียนมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียน ครูสอนแบบ active learning ได้เรียนรู้ ปฏิบัติ และสร้างสรรค์ การดำเนินการได้สร้างความตระหนักก่อน โดยจัดทำเป็นนโยบายของโรงเรียน มีการอบรมครู พาเด็กเรียนรู้ให้จดจำคำศัพท์ แบ่งกลุ่ม 4 คน ให้เด็กนำคำที่รู้มาแต่งประโยค และนำมาทำเป็นเรื่องราว เขียนเรียงความ สร้างรูปภาพ ทำเป็นนิทาน หรือหนังสือส่งเสริมการอ่าน สิ่งดีที่พบคือ เด็กภูมิใจในหนังสือส่งเสริมการอ่าน เด็กให้ความสำคัญและให้ความสนใจ เด็กรักและภูมิใจในท้องถิ่น สามารถแก้ปัญหาการอ่านการเขียนได้ ส่วนข้อจำกัด แม้จะส่งเสริมการอ่านภาษาไทย แต่เด็กยังใช้ภาษาถิ่น กิจกรรมการอ่านยังไม่บูรณาการสาระวิชาอื่นนัก การนิเทศของผู้บริหารยังไม่ทั่วถึง และยังมีอุปสรรคเรื่องเวลาและงบประมาณ

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by พิทักษ์ โสตถยาคม
Artwork by ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ศปบ.จชต. ร่วมกับ ศธจ.นราธิวาส สร้างมิติใหม่สำหรับการจัดการศึกษา “เปิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานราธิวาส สู่การพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืน”ฝ่ายแผนของ สป.ศธ. และ ศธจ. ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จับมือ สบน. สพฐ. เตรียมชง-จัดตั้งงบประมาณปี 2564 เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม 8 จังหวัด
บทความล่าสุด