เมื่อวานนี้ (วันที่ 4 มีนาคม 2563) ผอ.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำบุคคลกรของ สบน. และ สนก. เข้าร่วมประชุมพิจารณาแผนการดำเนินงานของสองสำนัก ต่อ ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ. ณ ห้องประชุม สพฐ. 2 อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 โดย ผอ.อโณทัย ไทยวรรณศรี ได้มอบหมายให้นายพิทักษ์ โสตถยาคม รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นำเสนองานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
รองเลขาธิการ กพฐ. มองว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ การวิจัยภาคสนามที่ยิ่งใหญ่ และได้เปรียบกว่าหลายโครงการเพราะมีกฎหมายรองรับ จากนั้นได้มอบนโยบายให้กลุ่มวิจัยและส่งเสริมการวิจัยทางการศึกษา ของ สนก. ดำเนินการทำวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สังกัด สพฐ. ทั้ง 226 โรงเรียน กับโรงเรียนทั่วไปที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีบริบทคล้าย ๆ กัน ว่าผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวนักเรียนโดยเฉพาะ ความเก่ง และความดี เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้มีหลักฐานทางวิชาการรองรับการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมทั้งได้ให้แนวทางการดำเนินงานและให้กำลังใจกับบุคลากรทุกคนที่ร่วมกันทำงานที่ยิ่งใหญ่นี้
“ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา นี่คือ การวิจัยภาคสนามที่ยิ่งใหญ่มาก และได้เปรียบหลายโครงการเพราะมีกฎหมายรองรับ ฝากทางกลุ่มวิจัยช่วยทำวิจัยเปรียบเทียบให้ผมดูหน่อยครับ โรงเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาทั้ง 271 โรงเรียน ซึ่งเป็นของ สพฐ. จำนวน 226 โรงเรียน เทียบกับโรงเรียนทั่วไปที่มีบริบทใกล้เคียงกันในพื้นที่คล้าย ๆ กัน ดูในเรื่องต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องความเก่ง และความดี เอาสองเรื่องนี้นะดูว่าต่างกันไหมลองทำ Proposal มาเสนอให้ผมดู เป็นสิ่งที่ดีที่ผมอยากเห็นเพราะจะได้มีหลักวิชาการยืนยัน งานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษานี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก แต่ไม่ต้องกังวลทำสิ่งที่ทำได้ไปก่อน ทำน้อยค่อยไปหามาก ทำง่ายๆค่อยไปหายาก ทำเล็กค่อยไปหาใหญ่ เราต้องไต่จอมปลวกก่อนถึงจะขึ้นภูเขา แล้วมันจะสำเร็จ และก็ให้กำลังใจทุกคนนะครับ ”
ดร.กวินทร์เกียรติ นนธ์พละ รองเลขาธิการ กพฐ.
ผู้เขียน: เก ประเสริฐสังข์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์, ศศิธร สวัสดี, ภัชธีญา ปัญญารัมย์
ภาพประกอบ: เก ประเสริฐสังข์