หัวใจในการบูรณาการการจัดการเรียนรู้ของครูต้นแบบ ครูนิพล รัตนพันธ์ สอนให้คิด ไม่ยึดติดตำรา เรียนรู้ภาษาไทยโดยใช้สิ่งแวดล้อมเป็นสื่อ

24 ธันวาคม 2019

หลังจากที่ได้นำเสนอเรื่อง “โรงเรียนบ้านมะนังกาหยี พื้นที่นวัตกรรมนราธิวาส น้อมนำศาสตร์พระราชา จัดการศึกษาบูรณาการ ยกระดับคุณภาพการอ่านและการเขียน” (ดูที่นี่ https://www.edusandbox.com/banmanangkayee-school/) มีผู้ทรงคุณวุฒิให้ความสนใจ และต้องการให้สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขยายความวิธีปฏิบัติในการจัดการเรียนรู้การเขียนการอ่าน พร้อมตัวอย่าง เพื่อให้เห็นภาพกระบวนการ และแนวทางในการยกระดับคุณภาพการอ่านการเขียนของโรงเรียน จึงได้ประสานขอให้ครูนิพล รัตนพันธ์ ครูวิชาการแห่งโรงเรียนบ้านมะนังกาหยี ให้บอกเล่าสิ่งที่ได้ดำเนินการ ซึ่งข้อความต่อจากนี้เป็นต้นไป เป็นงานเขียนของครูนิพล รัตนพันธ์ ที่ช่วยอธิบายขยายความส่งมาให้เพิ่มเติม…

โรงเรียนบ้านมะนังกาหยี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา นักเรียนทุกคนนับถือศาสนาอิสลาม ใช้ภาษามลายูท้องถิ่นสื่อสารในชีวิตประจำวันเหมือนกับนักเรียนส่วนใหญ่ในจังหวัดนราธิวาส

ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติไทย ใช้ในการพูด เขียนและสื่อสารในชีวิตประจำวัน ทั้งเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระวิชา นักเรียนต้องเรียนรู้ภาษาไทยตั้งแต่ระดับปฐมวัย แต่เนื่องจากสัดส่วนของการใช้ภาษาไทยมีจำกัดเฉพาะในพื้นที่ของโรงเรียน ดังนั้นบริบทของโรงเรียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาแนวทางเพื่อพัฒนาการอ่าน การเขียน การสื่อสารภาษาไทยในรูปแบบและวิธีการที่ต่างไปจากโรงเรียนในภูมิภาคอื่นๆ หรือถึงขั้นให้น้ำหนักกับการเรียนภาษาไทยมากขึ้นเป็นเท่าตัว

การจัดการศึกษาเพื่อบรรลุเป้าหมายตามมาตรฐานและตัวชี้วัดเป็นบันไดสูงสุด แต่กว่าจะถึงเป้าหมายนั้น จำเป็นที่ครูจะต้องคิดหารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมเป็นนวัตกรรมนำพาเด็กๆ ให้เกิดความรักและตระหนักรู้คุณค่าของภาษาไทย รู้จักคำ เข้าใจความหมาย นำไปใช้สื่อสารได้ถูกต้อง

การนำพาที่ถือเป็นรูปแบบที่โรงเรียนโดยครูภาษาไทยใช้เป็นนวัตกรรมการเรียนการสอน คือ ใช้หลักการบูรณาการภายในกลุ่มสาระวิชาเป็นหลัก โดยการจัดหน่วยการเรียนแบบกว้าง นำตัวชี้วัดที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน มีระนาบการเรียนเดียวกัน มาปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเริ่มต้นจากคำศัพท์ที่นักเรียนรู้จัก สัมผัสพบเห็นในชีวิตประจำวัน เช่น กิน ธงชาติ พักกลางวัน ห้องละหมาด เข้าแถว ฯลฯ

การใช้คำเหล่านี้ปูพื้นจะเป็นฐานการเรียนรู้ที่มั่นคง เพราะนักเรียนจะรู้สึกว่าเป็นคำที่ง่าย รู้จักมักคุ้น พูดถูก เขียนถูก ใช้เป็น สื่อสารเป็นประโยคได้ นักเรียนจะเห็นคุณค่า มีประโยชน์ นำมาใช้สม่ำเสมอ หลังจากนี้กิจกรรมเสริมเติมการเรียนรู้จะเกิดขึ้นด้วยคำที่ห่างออกไป แต่มี รูปคำ เสียง หรือความหมายใกล้เคียง โดยคำที่นำมาจะปรากฏอยู่ในคลังคำ ดึงมาใช้ตามบริบทของกิจกรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป

เมื่อนักเรียนอ่านคำได้คล่อง จึงเริ่มกิจกรรมการเขียน เขียนจากคำรู้จัก ไปสู่คำที่มีรูปสระ ตัวสะกด เดียวกัน นักเรียนเริ่มจะคิดคำใหม่ ในรูปแบบของฝังความคิดคำ เช่น

กิน คำใหม่คือ บิน ดิน หิน ริน
วัน คำใหม่คือ ฝัน กลั่น จันทร์ หัน

เมื่อมีคำเหล่านี้ไว้มากมาย รูปแบบต่อไปคือ การเชื่อมโยงลักษณะของคำและความสัมพันธ์เชิงความหมาย การนำไปใช้ เช่น

ปลา สัมพันธ์กับ น้ำ อาหาร ราคา อิ่ม

หลังจากนั้นจะเริ่มกิจกรรมการเขียนประโยค เรียนรู้หลักภาษาไทย ในรูปประโยคบอกเล่า ประโยคคำถาม ประโยคคำตอบ และประโยคปฏิเสธ เรียนเพิ่มเสริมคำเป็นเรื่องราว และเขียนเรื่องจากประสบการณ์หรือจินตนาการ

การสร้างคำหรือการได้คำศัพท์จึงมาจากกระบวนการคิด อาศัยประสบการณ์เดิมหรือความรู้เดิมมาสร้างความรู้ใหม่ มีการเชื่อมโยงตามแนวคิดของกลุ่มการเรียน หรือการเรียนรู้ร่วมกันของนักเรียน

การจัดกิจกรรมบูรณาการในรูปแบบที่กล่าวนี้ ใช้ได้ทั้งพื้นที่ห้องเรียนหรือนอกชั้นเรียนโดยอาศัยสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวนักเรียน ในบริเวณโรงเรียน บ้าน และชุมชน เป็นการฝึกนักเรียนสังเกต บันทึกคำ และอธิบายลักษณะของสิ่งที่พบเห็น ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้สามารถพัฒนารูปแบบความเข้มข้นตั้งแต่ประถมศึกษาถึงระดับมัธยมศึกษา

การสังเกต จดบันทึก นำไปเชื่อมโยงการเรียนรู้ จะทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวันมากขึ้น สิ่งสำคัญการกระตุ้น ยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดอยากรู้จะยิ่งเป็นแรงผลักหรือท้าทายความต้องการการเรียนรู้มากขึ้น นอกจากนี้การชี้แนะ ชื่นชม ขณะนักเรียนปฏิบัติกิจกรรมยังเป็นการเสริมแรงให้สิ่งที่รู้แล้วไปสู่ความรู้ใหม่ ซึ่งจะมีคุณค่าต่อผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง

โรงเรียนบ้านมะนังกาหยีมีภูมิทัศน์จากฐานกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นทรัพยากรอันสำคัญที่จะนำมาบูรณาการ เชื่อมโยง และต่อยอดความรู้ได้หลากหลาย สร้างความภาคภูมิใจ ตลอดจนถึงเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาไทยที่นักเรียนได้รับเป็นอย่างดีและยั่งยืน

Written by นิพล รัตนพันธ์ และพิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by นิพล รัตนพันธ์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
ผอ. โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง “กล้า” เปลี่ยนพลังชุมชนและภาคีเครือข่าย ร่วมเนรมิต Learning Space โรงเรียนบ้านสมานมิตร ในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง
บทความล่าสุด