เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2562 ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยนายพิทักษ์ โสตถยาคม นายเก ประเสริฐสังข์ และนายวันนิมิต สายสิทธิ์ คณะทำงาน สพฐ. ติดตามผลการดำเนินงานของโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ ณ โรงเรียนบ้านไผ่หนองแคน สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 มี ผอ.เสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 นายภัทธศาสน์ มาสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 นายธีรวัฒน์ คำศรี รอง ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 นายกิติศักดิ์ บุญดาว ผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา นายเพชร วงพรมมา ผอ.รร.บ้านไผ่หนองแคน และคณะครู รวมทั้งผู้บริหารโรงเรียนในพื้นที่และบุคลากรสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้การต้อนรับ นำเสนอภาพการขับเคลื่อนงาน และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้
นายเสนีย์ เรืองฤทธิ์ราวี ผอ.สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 กล่าวว่า โรงเรียนบ้านไผ่หนองแคน ได้ใช้ BBL (Brain-based Learning) ร่วมกับสื่อและวิธีการอื่นๆ อาทิ DLTV DLIT นิเทศภายใน ทำให้ผลการทดสอบระดับชาติของผู้เรียนเพิ่มขึ้นทุกปี ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
นายเพชร วงพรมมา ผอ.รร.บ้านไผ่หนองแคน และครูผณิตนุช ทองเทพ (ครูนุช) ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรงเรียนเปิดสอนชั้นอนุบาล 1 ถึง ป.6 มีนักเรียน 167 คน ได้เริ่มใช้ BBL นับตั้งแต่เข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องในโครงการปฏิรูปการเรียนรู้สู่ผู้เรียน ในปี 2558 (นโยบายของพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศธ.) ซึ่งได้ให้โรงเรียนระบุว่าจะใช้นวัตกรรมใดในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน จึงเลือกใช้ BBL พลิกโฉมโรงเรียนด้วยกุญแจ 5 ดอก (Playground, Classroom, Teaching & Learning, BBL Books, Innovations) เน้นการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้น (บริหารสมอง นำเสนอความรู้ เรียนรู้/ฝึก สรุป และนำไปใช้) ในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ หลังจากการวิเคราะห์มาตรฐานและตัวชี้วัดหลักสูตร รวมทั้ง Test Blueprint ที่ใช้ในการทดสอบระดับชาติ มีการนิเทศภายในด้วยผู้นิเทศหลากหลาย มีการปรึกษาหารือกันเพื่อพัฒนาคุณภาพการสอน การกำหนดเป้าหมายให้ผู้เรียนบรรลุมาตรฐานและตัวชี้วัด จัดทำแผนการสอนรายปี และแผนการสอนหน้าเดียว (รายชั่วโมง) นำไปสู่การสอนอย่างเป็นระบบทั้งโรงเรียน เน้น “เรียนรู้อย่างมีความสุข กิจกรรมสนุกด้วย BBL” ผลการจัดการเรียนการสอนเป็นที่ประจักษ์จนมีผู้มาศึกษาดูงานจากต่างโรงเรียน นับตั้งแต่เปิดภาคเรียนนี้มา ทั้งสิ้น 369 โรงเรียน
ดร.อัมพร พินะสา รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวสะท้อนจากสิ่งที่พบเห็นจากโรงเรียนบ้านไผ่หนองแคน ว่า ได้เห็นว่าโรงเรียนมีกระบวนการวิเคราะห์หลักสูตรมาสู่แผน สังเคราะห์มาสู่การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ แผนหน้าเดียว (ที่ไม่สร้างภาระให้ครู) และจัดกระบวนการเรียนรู้ เชื่อมโยงกับ BBL DLTV DLIT ใช้กระบวนการ 5 ขั้นเป็นตัวนำ มีการนิเทศภายใน จนได้ผลการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ดีต่อเนื่อง สิ่งที่น่าสนใจคือ ควรมีการถอดบทเรียนวิธีการบริหารจัดการของผู้อำนวยการโรงเรียนเกี่ยวกับการจุดประกายครูให้เห็นดีเห็นงามและร่วมแรงร่วมใจพัฒนาตามแนวทางนี้ การดูแลเรื่องขวัญกำลังใจครูให้สามัคคีเป็นหนึ่งเดียว รวมทั้งอุดมการณ์ของการเป็นนักพัฒนาของ ผอ.และครู และวิเคราะห์ให้เห็นว่าอะไรคือปัจจัยหลัก อะไรคือปัจจัยสนับสนุน ซึ่งเขตพื้นที่ควรมอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ดำเนินการถอดบทเรียนเพื่อเป็นแนวทางในการขยายผลไปยังโรงเรียนอื่น ให้สามารถลงมือทำ ให้ทำได้ทีละขั้น เมื่อพบอุปสรรค ให้มีแนวทางแก้ไขด้วย
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวตอนท้ายว่า ต้องการเห็นโรงเรียนทั่วไปเป็นเช่นโรงเรียนบ้านไผ่หนองแคนให้มากขึ้น และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง อย่างน้อย 3 เรื่อง 1) เปลี่ยนการประเมินวิทยะฐานะ ผอ.เชี่ยวชาญ ครูเชี่ยวชาญ ให้เป็นการนำเสนอผลการพัฒนา ที่แสดงให้เห็นคุณภาพการจัดการเรียนการสอน สะท้อนคุณภาพผู้เรียน และกระบวนการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างแท้จริง 2) เปลี่ยนหลักเกณฑ์การโยกย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีคุณภาพเช่นเดียวกันนี้ ควรจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของ ผอ. ที่จะย้ายเข้ามา ต้องเทียบเท่าหรือดีกว่า เพื่อสานต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ต่อเนื่อง ยั่งยืน และ 3) เปลี่ยนบทบาทศึกษานิเทศก์จากการเป็นผู้บริหารโครงการต่างๆ ของ สพฐ. ไปเป็นผู้นิเทศการเรียนการสอนอย่างแท้จริง
Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by เก ประเสริฐสังข์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์