ธงชัย มั่นคง : กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เชื่อม สบน. สพฐ.-ประสานนโยบาย เตรียมผลักดันงานเชิงพื้นที่...เน้นการมีส่วนร่วม

20 ธันวาคม 2019

ด้วยมีกำหนดจัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองในเร็ววันนี้นายธงชัย  มั่นคง (คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง) จึงเข้าร่วมหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองกับผู้แทนสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานเชื่อมประสานระหว่างคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยนายพิทักษ์  โสตถยาคม รองผอ.สบน. พร้อมด้วย น.ส.อุมาภรณ์  พัฒนะนาวีกุล ผอ.กลุ่มวิจัยและพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สบน.และเป็นผู้รับผิดชอบการส่งเสริมประสานงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ณ สบน. ผลการหารือแลกเปลี่ยนแนวทางที่ได้ จะเป็นข้อมูลนำเสนอเพื่อเป็นข้อพิจารณาต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองต่อไป

ผลการหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง สรุปเป็นประเด็นต่าง ๆ ได้ดังนี้

1. ทิศทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง

นายธงชัย มั่นคง ได้เล่าถึงผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองที่ผ่านมา มีประเด็นน่าสนใจว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองขับเคลื่อนโดยใช้หลักสูตรนำพาสถานศึกษานำร่องไปสู่เป้าหมาย และมีแนวคิดว่า ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในคราวต่อไปจะพิจารณากำหนดบทบาทของ สพท.เป็นกลไกหลัก ซึ่ง สพท.ควรกำหนดให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นภารกิจหนึ่งของสพท.ด้วย ทั้งนี้ รองผอ.สบน.ได้แลกเปลี่ยนมุมมองตามบทบัญญัติมาตรา 5(3) แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งให้อิสระและเพิ่มความคล่องตัวแก่หน่วยงานทางการศึกษา

2. การจัดสรรงบประมาณให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่อง

รองผอ.สบน. ได้เล่าถึงการสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วยการจัดสรรงบประมาณ สรุปได้ว่า การจัดสรรงบประมาณให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดำเนินการโดย 1) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) เป็นงบประมาณที่จัดสรรไปยังสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และ 2) สพฐ. เป็นงบประมาณสำหรับจัดสรรให้ สพท.ต้นสังกัดสถานศึกษานำร่องและสถานศึกษานำร่อง พร้อมทั้งเสนอแนวทางที่เป็นไปได้คือ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองอาจจัดทำแผนงาน/โครงการ ประจำปีงบประมาณ 2563 – 2564 เพื่อรองรับการจัดสรรงบประมาณจาก สป.ศธ. และ สพฐ.

3. การเพิ่มความมีอิสระความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษา หรือ การปลดล็อกกฎระเบียบ

นายธงชัย  มั่นคง ได้เล่าถึงสภาพการณ์ พร้อมทั้งหารือถึงความเป็นไปได้ในการเพิ่มความมีอิสระและความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ซึ่งรองผอ.สบน.ได้เสนอแนวทางที่เป็นไปได้รวมถึงแนวคิดเรื่องบทบาทของ “พื้นที่” สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 โครงการครูรักษ์ถิ่น จากการเสนอแนวคิดว่าโครงการครูรักษ์ถิ่นทำให้สถานศึกษามีครูจากคนในพื้นที่ อาจช่วยแก้ปัญหาการย้ายของครูซึ่งเกิดขึ้นบ่อย รอง ผอ.สบน.ได้เสนอแนวทางดำเนินการที่เป็นไปได้ว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอาจเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับการเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาคนในพื้นที่ เพื่อมาเป็นครูในพื้นที่ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
3.2 การจัดสอบครูขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการในพื้นที่รองผอ.สบน.ได้เสนอแนวทางดำเนินการที่เป็นไปได้คือ อาจเสนอเรื่องพร้อมรายละเอียดปัญหาอุปสรรคที่ไม่สามารถแก้ไขได้เอง พร้อมข้อเสนอหลักเกณฑ์ แนวทาง ให้อนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณา หรือดำเนินการ 2 แนวทางพร้อมกัน เนื่องจากผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้แก่ 1) แจ้งปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นและขอดำเนินการเองในฐานะเป็นสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 2) เสนอปัญหาอุปสรรค พร้อมแนวทางแก้ไขขอปลดล็อกกฎระเบียบมายังคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้อนุกรรมการด้านการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาพิจารณา
3.3 วิทยฐานะ นายธงชัย มั่นคง เสนอแนวคิดว่า ควรใช้ชื่อ การประเมินความก้าวหน้าของครู โดยประเมินจากผลการบรรลุเป้าหมายของสถานศึกษานำร่องตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ฯ รองผอ.สบน.ได้เสนอแนวทางดำเนินการที่เป็นไปได้คือ เสนอหลักเกณฑ์การประเมินสำหรับใช้ในพื้นที่ซึ่งผ่านความเห็นชอบร่วมกันระหว่างสถานศึกษานำร่อง และอาจเพิ่มเติมหลักเกณฑ์หน่วยงานหรือบุคคลที่ช่วยสนับสนุนความสำเร็จในการขับเคลื่อน
3.4 ระเบียบการใช้จ่ายเงินงบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองมีข้อติดขัดเรื่องระเบียบด้านงบประมาณของ อบจ. เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินประมาณสำหรับอุดหนุนการศึกษาของสถานศึกษานำร่อง รองผอ.สบน.ได้เสนอแนวทางที่เป็นไปได้ว่า อาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นของนายก อบจ.ต่อการสนับสนุนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหากได้รับการปลดล็อกกฎระเบียบโดยคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
3.5 บทบาทสำคัญของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอยู่ที่ “พื้นที่” คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดความมีอิสระ เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารและการจัดการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

4. การขยายสถานศึกษานำร่อง

นายธงชัย  มั่นคง ได้เล่าถึงกรณีสถานศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองขอเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่อง ซึ่งรองผอ.สบน. ได้เสนอแนวทางที่เป็นไปได้ว่า มติคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครั้งที่ 1/2562 ยังไม่ให้ขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเพิ่มเติม เนื่องจากต้องการให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 6 พื้นที่เดิม ขับเคลื่อนให้ได้ตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอย่างเต็มที่จนสามารถขยายผลได้ หากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาประสงค์ขยายสถานศึกษานำร่อง ควรดำเนินการโดยไม่เพิ่มภาระด้านงบประมาณ ทั้งนี้ นายธงชัย  มั่นคง ได้เสนอแนวคิดอีกว่า อยากให้สถานศึกษาที่ประสงค์สมัครเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องเขียนแผนขับเคลื่อนตาม School Concept

5. การสื่อสารการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

รองผอ.สบน.ได้เสนอแนวคิดการเสริมสร้างกำลังใจ สร้างพลังในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วยการสื่อสารการทำงาน ผลการดำเนินงาน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
5.1 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาน่าจะมีการมอบหมายผู้รับผิดชอบสื่อสารการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบต่างๆ เช่น บทความ ผ่านผู้รับผิดชอบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ สบน.แต่ละพื้นที่
5.2 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและสถานศึกษานำร่องสามารถส่งบทความเกี่ยวกับการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วยสาระสำคัญหรือรายละเอียดในเชิงวิชาการ เช่น ประเด็นสำคัญ ข้อพึงระวัง เป็นต้น ผ่านผู้รับผิดชอบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาของ สบน.แต่ละพื้นที่ บทความจะได้รับการพิจารณาเผยแพร่ลงในเว็บไซต์สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

Written by อุมาภรณ์  พัฒนะนาวีกุล
Photo by ภัชธีญา ปัญญารัมย์
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์

Facebook Comments
สพฐ. จัดสรรงบให้ 30 เขตพื้นที่ ให้เขตพื้นที่ระดมสรรพกำลังหนุนเสริมโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรม เร่งปรับหลักสูตรและขับเคลื่อนกิจกรรมที่จำเป็น ตาม พ.ร.บ.ชื่นชม! พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ระยอง …คณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา เชียร์! เดินหน้าเต็มพิกัดและใช้ พ.ร.บ. เป็นเครื่องมือปฏิรูปการศึกษา
บทความล่าสุด