เมื่อวันที่ 2-3 มกราคม 2563 นายวิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน และคณะครู จัดกิจกรรมประชุมปฏิบัติการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาแบบฐานสมรรถนะ ร่วมกับ ผู้บริหารและคณะครูโรงเรียนบ้านสมานมิตร คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 และ 2 สถาบันอาศรมศิลป์ และปราชญ์ชุมชน ตารางกิจกรรมกำหนดไว้คร่าว ๆ ว่า จะมีการสนทนา การลงภาคสนามพบกับปราชญ์ชุมชน และการใช้ google sheet ปรับหลักสูตรสถานศึกษา การทำกิจกรรมทั้ง 2 วัน มีเป้าหมายที่ชัดเจนใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1) สมรรถนะคืออะไร 2) School Concept โรงเรียนวัดตาขัน คืออะไร 3) การเรียนรู้จากปราชญ์ชุมชน ให้อะไรกับครูโรงเรียนวัดตาขัน และ 4) หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนวัดตาขันฉบับเดิม ต้องมีการปรับอะไรบ้าง หลักสูตรฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร บทสรุปรวบยอดในประเด็นต่าง ๆ มีดังนี้
บทสรุปรวบยอด ประเด็นที่ 1 “สมรรถนะคืออะไร”
วงสนทนาเริ่มต้นสนทนาแบบเปิดใจคุยกันเกี่ยวกับสมรรถนะคืออะไร พร้อมยกตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดตามความคิดเห็นของตน โดยมี ดร.วรนิษฐ์ วรพรธัญพัฒน์ เป็น note taker เมื่อการสนทนาเสร็จสิ้นลง จึงได้บทสรุปดังภาพ วงสนทนาต่างยอมรับและร่วมกันอธิบายความหมายของ “สมรรถนะ” หมายถึง ชุดของความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่หลากหลาย ผ่านมุมมองโลกและมุมมองในตนที่หลากหลาย อย่างมีศรัทธา ความเชื่อ และแสดงพฤติกรรมที่ประสบความสำเร็จ อย่างรับผิดชอบ และนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในการดูแลตน สังคม และโลก
บทสรุปรวบยอด ประเด็นที่ 2 “School Concept” ของโรงเรียนวัดตาขัน คืออะไร
วงสนทนาเข้าสู่ประเด็นที่ 2 เรื่อง School Concept ของโรงเรียนวัดตาขัน ผ่านการบอกเล่าของ ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขันว่า โรงเรียนนี้มีทำเลอยู่ใกล้วัดตาขัน ซึ่งเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม มีวัฒนธรรมพื้นบ้านหลากหลาย มีแหล่งน้ำสำคัญและเป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพทั้งสัตว์และพืช ดังนั้น School Concept ของโรงเรียนวัดตาขัน จึงมุ่งเน้นที่ “TK Bio-Culture and Innovation School” หรือ “โรงเรียนนวัตกรเชิงชีววิถี” ซึ่งทุกคนให้การยอมรับว่าเป็น School Concept ที่มีความชัดเจน สอดคล้องกับบริบทชุมชน แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของโรงเรียนที่มีต่อสังคม สำหรับครูโรงเรียนวัดตาขันได้แสดงความเป็นเจ้าของ School Concept นี้อย่างแน่วแน่ เนื่องจากจะเป็นการตอบสนอง พัฒนา ชุมชนนี้ให้เป็นสังคมที่มีความสุขอย่างยั่งยืน
เพื่อให้เกิดความชัดเจนใน School Concept ดังกล่าว วงสนทนาจึงเปิดประเด็นพูดคุยกันว่า “สุดท้ายแล้ว นักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนวัดตาขัน ควรมีคุณลักษณะอย่างไร”
วงสนทนาเริ่มมีสีสัน เนื่องจากเป็นคำถามที่เจาะลึกถึง outcome ของโรงเรียนวัดตาขัน ในที่สุด ผู้อำนวยการโรงเรียน และคณะครู สรุปกันว่า
“สุดท้ายแล้วนักเรียนที่เรียนจบจากโรงเรียนวัดตาขัน ต้องมีสมรรถนะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 และมีสมรรถนะที่โดดเด่นด้านการเป็นนวัตกรน้อยที่สร้างสรรค์ผลงานชีววิถีในชุมชน พร้อมที่จะต่อยอดและเติบโตเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ในอนาคต…….”
คำถามที่ยังไม่จบสิ้นของวงสนทนานี้อีกข้อหนึ่งคือ “มีใครในชุมชนนี้ที่มีคุณลักษณะเป็นแบบอย่างตาม outcome ดังกล่าวบ้างหรือไม่” ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ได้แนะนำว่า เป็นคุณประกิต โพธิ์ศรี เป็นเกษตรกรจังหวัดระยอง ได้รับรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ปี 2559 และเป็นเจ้าของสวน Rayong Smile Plant สร้างนวัตกรรมภาคธุรกิจร้านกาแฟ ร้านอาหาร ศูนย์การเรียนรู้ และสร้างนวัตกรรมสายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิงใหม่
บทสรุปรวบยอด ประเด็นที่ 3 การเรียนรู้จากปราชญ์ชุมชน ให้อะไรกับครูโรงเรียนวัดตาขัน
กิจกรรมภาคสนาม เปลี่ยนจากวงสนทนาที่โรงเรียนวัดตาขัน มาเป็นการเดินชมสวน Rayong Smile Plant เป็นสวนหม้อข้าวหม้อแกงลิง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร แหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยว บริหารงานโดยคุณประกิต โพธิ์ศรี คณะใช้เวลาเรียนรู้ประมาณ 3 ชั่วโมงเศษ
รอบแรกของวงสนทนา ทุกคนเขียนสิ่งที่อยากรู้ลงบนกระดาษโน้ตเล็ก ๆ หลังจากนั้นจึงอ่านให้ได้ยินกันทั้งวง การทำแบบนี้ที่จริงแล้วเป็นการเตรียมให้คุณประกิตได้รู้ว่า ในวงสนทนาต้องการรู้อะไรจากตนบ้าง คำถามส่วนใหญ่มักถามเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ และวิธีคิด วิธีต่อสู้ ดิ้นรน ฝ่าฟันอุปสรรค จนมายืนได้ในปัจจุบัน
รอบสอง เป็นการเล่าเรื่องราวของคุณประกิต เป็นสิ่งที่คุณประกิตบอกว่าไม่เคยเล่าได้ดีเท่านี้มาก่อน เนื่องจากเห็นว่าเล่าให้คนในวงการศึกษาฟัง คาดว่าจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อนักเรียน
รอบสาม หลังจากฟังเรื่องของคุณประกิตแล้ว สมาชิกในวงสนทนาสรุปสิ่งที่ค้นพบ ดังภาพ
บทสรุปรวบยอด ประเด็นที่ 4 หลักสูตรสถานศึกษาโรงเรียนวัดตาขันฉบับเดิม ต้องมีการปรับอะไรบ้าง หลักสูตรฉบับใหม่จะเป็นอย่างไร
กิจกรรมสุดท้าย เป็นรอบของการปรับหลักสูตรในมุมมองของโรงเรียนวัดตาขัน ดังนั้น ผู้บริหารและครูโรงเรียนวัดตาขัน ต้องร่วมด้วยช่วยกันคิดว่าควรจะมีหลักสูตรฉบับที่เป็นของตนเองเพื่อใช้เป็นเจตนารมณ์และยุทธศาสตร์ในการหล่อหลอมนักเรียนให้มีสมรรถนะเป็นไปตาม School Concept ที่กำหนดไว้ เริ่มต้นด้วยการสร้างไฟล์ใน google docs (เป็นไฟล์ว่าง ไม่มีเนื้อหา มีแต่สารบัญซึ่งเป็นโครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษา) และให้ทุกคนมีส่วนร่วมแบบ Collaborative ในการสร้างหลักสูตร
ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง และทีมงานเพื่อนคู่คิด (นายธงชัย มั่นคง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง และทีมศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 และ 2) ช่วยกันสร้างความกระจ่างและประคับประคองให้การทำหลักสูตรเป็นรูปเป็นร่างพอที่โรงเรียนวัดตาขันจะไปทำต่อได้
โดยสรุป ลักษณะของหลักสูตรสถานศึกษาฉบับใหม่ของโรงเรียนวัดตาขัน มีการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ 1) ใช้สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับนักเรียน 10 สมรรถนะเป็นเป้าหมาย 2) ปรับรายวิชาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทักษะวิชาการ (Head) กลุ่มทักษะชีวิต (Hand) และกลุ่มจิตสำนึกดี (Heart) 3) ระบุเป้าหมายของรายวิชาให้เฉพาะเจาะจงว่าเรียนเพื่ออะไร 4) มีเนื้อหาวิชาระยองเมืองน่าอยู่ อยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
มุมมองสะท้อนผลสำหรับครูโรงเรียนวัดตาขัน
มุมมองนี้เกิดจากการสังเกตระหว่างการร่วมวงสนทนาในช่วงระหว่างวันที่ 2-3 มกราคม นี้
1. ครูมีสมาธิในการสนทนา ใจจดจ่อ รับฟังอย่างนิ่ง ๆ สามารถจับประเด็นการสนทนาได้อย่างรวดเร็ว มีการซักถามในประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การนำไปใช้ได้ ทั้งนี้อาจเป็นผลจากกระบวนการจิตตปัญญา นั่งล้อมวง ทำจิตใจให้สงบ มีสมาธิ และการสนทนาเชิงสร้างสรรค์ ที่ครูทำร่วมกับนักเรียนอย่างสม่ำเสมอจนเป็นกิจวัตรประจำวัน
2. ครูมีความสุขในการทำกิจกรรมภาคสนาม (Field Trip) ยิ้มแย้มแจ่มใสไปด้วยกันเป็นทีมพร้อมกับผู้บริหาร อยู่กับวิถีแบบบ้าน ๆ ได้ สังเกตจากการแต่งกาย เครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการลงภาคสนาม นอกจากนี้ยังมองเห็นความพร้อมเพรียงในการทำกิจกรรม รวมตัวกันได้อย่างรวดเร็ว รู้เวลา ไม่ต้องตาม ทั้งนี้อาจเป็นผลจากโรงเรียนวัดตาขันมีกิจกรรมภาคสนามบ่อย ทั้งครู นักเรียน และผู้บริหาร ต้องวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อม จนส่งผลให้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย หรือ อาจกล่าวได้ว่าเป็นสมรรถนะเฉพาะในการจัดกิจกรรมภาคสนาม ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนที่ดีสำหรับการนำหลักสูตรสถานศึกษาไปใช้อย่างมั่นใจ
3. การตั้งวงสนทนาร่วมกับผู้บริหารและครูโรงเรียนวัดตาขันเป็นบรรยากาศของคนใกล้ชิดคุยกันแบบปากต่อปาก รู้จักฟัง รู้จักรอ ไม่มีใครเป็นใหญ่ ไม่ใช้อำนาจ (ยกเว้นเสียงกระดิ่ง แต่ก็เป็นเพียงแค่การกำหนดเวลา) สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือคำถามของครูก่อนตั้งวง กับคำตอบที่ครูได้รับเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าครูได้เรียนรู้ในสิ่งที่อยากรู้จากการสนทนานั้น ทั้งนี้อาจเป็นผลจากโรงเรียนวัดตาขันมีการสนทนาเช่นนี้บ่อยมาก หรืออาจกล่าวได้ว่า ใช้วงสนทนาเป็นเครื่องมือในการค้นหา แลกเปลี่ยน ปลดล็อคความคิดที่เป็นลบออกไป ทุกคนในโรงเรียนรับรู้เรื่องราวเดียวกันได้ง่ายและรวดเร็ว และใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมการบริหาร การสอน การจัดกิจกรรมต่าง ๆ
4. เป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงทั้ง 7 ประการ (7 Changes) ของโรงเรียนวัดตาขัน อันประกอบด้วย 1) School Concept 2) School Leader 3) Teachers 4) Classrooms 5) Curriculum 6) Pedagogy 7) Evaluation ถูกนำมาถักทอเป็นเกลียวเดียวกัน ภายใต้บริบท Bio-culture จนแยกไม่ออกว่าการเปลี่ยนแปลงเริ่มจากอะไรก่อน อะไรโดดเด่นกว่า และการเปลี่ยนแปลงจะหยุดเมื่อไร หยุดที่ไหน พลังการเปลี่ยนแปลงดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง และฉายให้เห็นความต่างอย่างชัดเจนระหว่างก่อนกับหลังการเปลี่ยนแปลง แสดงให้เห็นถึงการยอมรับและเข้าถึงคุณค่า การเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็น การแสดงออกแบบทักษะและสมรรถนะ ของบุคลากรโรงเรียนวัดตาขันที่ถูกบ่มเพาะจากการทำกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง น่าจะเป็นบทสรุปที่ชัดเจนได้แล้วว่า กระบวนการพัฒนาบุคลากรในโรงเรียนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต้องใช้สถานการณ์ในโรงเรียนเป็นโจทย์ ใช้กระบวนการพาคิดพาทำเป็นเครื่องมือ เพื่อให้ได้คำตอบในการเปลี่ยนโรงเรียนให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ของนักเรียน
ขอขอบคุณ
1. ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน และคณะครูโรงเรียนวัดตาขันทุกท่าน
2. ผอ.เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร และคณะครูโรงเรียนบ้านสมานมิตรทุกท่าน
3. ผู้นำทีม ท่าน ผอ.ธงชัย มั่นคง
4. ทีมศึกษานิเทศก์ สพป.ระยอง เขต 1 และ 2
5. ทีมงาน อาจารย์ประภาภัทร นิยม และทีมงานสถาบันอาศรมศิลป์
เรียบเรียง นงค์นุช อุทัยศรี
ภาพประกอบ นางสาวอาภาภรณ์ ชื่นมณี
ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สพป.ระยอง เขต ๒
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์