พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยเอื้อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดระยองได้อย่างไร? การบรรยายพิเศษของ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง

8 สิงหาคม 2024

พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยเอื้อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดระยองได้อย่างไร?

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้มอบหมายให้ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมงานเปิดเวทีบูรณาการในการพัฒนาผู้เรียนระยองสู่สากลในบริบทระยอง พิธีลงนาม MOU ร่วมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนระยองสู่สากล ซึ่งจัดโดยสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย จ.ระยอง (สถาบัน RILA) อบจ.ระยอง และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดระยอง ณ ห้องประชุมสุนทรภู่ โรงแรมสตาร์ คอนเวนชั่น ระยอง โดยมีนายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผวจ.ระยอง เป็นประธานเปิดฯ ภายในงานมีการบรรยายหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ และการเสวนาเราจะร่วมสร้างคุณลักษณะผู้เรียนระยองสู่สากลได้อย่างไร ทั้งนี้ในช่วงบ่าย ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้บรรยายพิเศษเรื่อง “พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยเอื้อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดระยองได้อย่างไร?”

ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของจังหวัดระยองในการเป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยได้กล่าวว่า “จังหวัดระยองเป็นอันดับต้นในการเป็นต้นแบบของการขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษา ถ้าใครต้องการดูงานก็ให้มาดูที่ระยอง” พร้อมทั้งได้กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปหน่วยงานทางการศึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการที่ได้ให้แนวทางไว้ว่า “เราจะเป็นม้าที่ลงจากหลังเต่า” เพื่อสื่อถึงการลดข้อจำกัดทางกฎระเบียบ ซึ่งทำให้การเคลื่อนที่ได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถวิ่งได้เร็วขึ้น ซึ่งในบริบทของการศึกษาที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องการให้การศึกษาในประเทศเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน พัฒนาทักษะครูและบุคลากร ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อไม่ให้การศึกษาล้าหลังและตอบสนองต่อความต้องการของนักเรียนในยุคปัจจุบัน

ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์หลักของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาอยู่ 4 ประการ คือ

  • การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกัน
  • การลดความเหลื่อมล้ำ โดยจัดการศึกษาให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้
  • การให้อิสระในการคิดและปฏิบัติ เพื่อให้การศึกษามีความคล่องตัวและมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
  • การสร้างกลไกความร่วมมือ ระหว่างภาคีต่าง ๆ เพื่อให้การขับเคลื่อนนวัตกรรมการศึกษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

จากนั้นท่านได้บรรยายโดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำ และพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนซึ่งมีประเด็นหลักสามารถสรุปได้ ดังนี้

  • พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา:เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาการศึกษาให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองต่อความต้องการของท้องถิ่นได้ดียิ่งขึ้น
  • ความร่วมมือ:การทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเป็นสิ่งจำเป็นในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมให้ประสบความสำเร็จ
  • เทคโนโลยี:การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียน
  • คุณครู:มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านวิชาการและคุณธรรม
  • การประเมิน:การประเมินผลเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

5 ปัจจัยสำคัญ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะช่วยเอื้อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ของจังหวัดระยอง

  • การมีส่วนร่วมของชุมชน:ควรส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการโครงการต่างๆ ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในลักษณะจับมือไว้แล้วไปด้วยกัน
  • การสนับสนุนจากภารัฐและนโยบายที่เหมาะสม: การสนับสนุนด้านงบประมาณและนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญ โรงเรียนต้องมีทรัพยากรเพียงพอ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ รมว.ศธ. ที่เน้นการลดภาระ เพิ่มความสุขในการเรียนการสอน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและสถานประกอบการในพื้นที่

  • การพัฒนาครู/บุคลากร:ควรมีการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ครูมีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีและวิธีการสอนที่หลากหลาย
  • การนำเทคโนโลยีมาใช้:ควรมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
  • การประเมินผล:ควรมีการประเมินผลอย่างต่อเนื่องเพื่อวัดผลลัพธ์ของการดำเนินงานและนำไปสู่การปรับปรุง

และในช่วงท้ายผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ได้ฝาก 5 ภารกิจหลักของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (กขน.)  เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองของเรา ได้แก่ 1) ส่งเสริม สนับสนุน ตาม มาตรา 20 2) ลดอุปสรรค เพิ่มอิสระ ในการบริหารและจัดการศึกษาของโรงเรียนนำร่อง 3) จัดทีมช่วยเหลือโรงเรียนนำร่องในการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมการศึกษาของโรงเรียน 4) เสริมพลัง สร้างขวัญกำลังใจ 5) ผสานพลังทำงานกับภาคีร่วมขับเคลื่อนฯ โดยร่วมมือและทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา หน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตามยุทธศาสตร์ที่ท่านได้วางกันไว้

ในส่วนของสถานศึกษานำร่อง มี 5 ภารกิจที่ต้องดำเนินการ ได้แก่ 1) พัฒนาหลักสูตรและรูปแบบการเรียนการสอน 2) พัฒนาศักยภาพตนเอง 3) ปรับปรุงสภาพแวดล้อม 4) สร้างเครือข่าย/พันธมิตร 5) สะท้อนผล/ประเมินผล 

โดยภาพรวมการบรรยายครั้งนี้ ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพและตอบสนองต่อความต้องการของผู้เรียน โดยมีพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่สำคัญขอให้นำสู่การปฏิบัติ และใช้สิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่สร้างขึ้นมาใหม่ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการขับเคลื่อน
ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง
ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.
วันที่ 5 สิงหาคม 2567

ภาพบรรยากาศภายในงาน

ลิ้งก์บันทึกการประชุมการบรรยายของผู้ชวยเลขาธิการ กพฐ. (เวลา 1.22.30 – 1.37.50 น.) https://www.facebook.com/share/v/VPsLCbfLboMKL2Cb/?mibextid=SphRi8

Slide ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
https://drive.google.com/file/d/1DFUH7JXo24VyFO9Td1eCpiHmfyTaZk1K/view?usp=sharing

 


ผู้เขียน: ณัฐมล ไชยประดิษฐ์
กราฟิกดีไซน์เนอร์: เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะความเป็นผู้ประกอบการของ นักเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบท พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยองสบน. ยกระดับสำนักงานสู่ความยั่งยืนกับ 6 มาตรการประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ทำได้ง่ายๆ ในทุกวัน
บทความล่าสุด