บ่ายวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ได้ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ณ โรงเรียนบ้านสมานมิตร ต.กะเฉด อ.เมือง จ.ระยอง ร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา และอนุกรรมการพิจารณาศึกษา ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการศึกษา
เมื่อไปถึงโรงเรียนบ้านสมานมิตร ต้องสะดุดกับพื้นที่เรียนรู้ หรือ Learning Space ที่ตั้งอยู่หน้าอาคารเรียน จึงได้สัมภาษณ์ ผอ.เค หรือ ผอ.เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร เกี่ยวกับการจัดทำ Learning Space จึงขอเก็บประเด็นมาแบ่งปัน ดังนี้
จากเรียนรู้สู่เปลี่ยนแปลง
จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นระหว่างการศึกษาดูงาน ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ ของ ผอ.เค ในเดือนกันยายน 2561 ได้เห็นพื้นที่เรียนรู้ในโรงเรียนรุ่งอรุณ แล้วคิดว่าเมื่อกลับไปโรงเรียนแล้วน่าจะทำอะไรเช่นนี้ได้บ้าง จากนั้น เมื่อเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ได้รับการชี้แนะจากสถาบันอาศรมศิลป์ หนึ่งในภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) ในการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบด้วย Whole School Transforming 7 Changes ซึ่งการเปลี่ยนห้องเรียน (Classrooms) เป็น 1 ใน 7 Changes และ Learning Space ถือเป็นห้องเรียนช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย
หนึ่งในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 25 โรงเรียนนำร่อง ก็คือ การจัดอบรมเรื่อง Learning Space ระหว่างวันที่ 9-10 มีนาคม 2562 ซึ่งสถาบันอาศรมศิลป์ได้ใช้พื้นที่โรงเรียนบ้านสมานมิตรเป็นพื้นที่เรียนรู้และสถานที่ฝึกอบรมดังกล่าว ผู้ร่วมฝึกอบรมได้ร่วมกันคิดว่าพื้นที่ของโรงเรียนสามารถจัดเป็นพื้นที่เรียนรู้ได้อย่างหลากหลาย ซึ่ง ผอ.เค ได้เล็งเห็นแนวทางเหล่านั้นและนำมาคิดต่อ
ใส่ใจ ได้ใจ และมีแรงบันดาลใจ
จากนั้น ผอ.เค ได้พาครูผู้สอนของโรงเรียนบ้านสมานมิตรไปเรียนรู้ดูงาน ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ เพิ่มเติมอีก 3 วัน จากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาโรงเรียนของ ผอ.เค และคณะครู รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ จึงส่งสถาปนิกของสถาบันลงพื้นที่และช่วยออกแบบพื้นที่เรียนรู้ของโรงเรียนบ้านสมานมิตร
ในเดือนเมษายน 2562 โรงเรียนเริ่มถอดของเล่นที่เป็นเหล็กออกไปจากโรงเรียน ปรับสภาพพื้นที่โดยนำทรายมาลง ทรายนี้ได้จากการที่ ผอ.เค เกริ่น “ปล่อยโจทย์” ให้คนในชุมชนทราบ และได้รับน้ำใจจากคนในชุมชนและเป็นผู้รับเหมานำทรายมาถมที่ให้ฟรี จากนั้นก็ได้ปรึกษากับสถาปนิกและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
รองศาสตราจารย์ประภาภัทร ได้รับทราบว่าชุมชนมีใจและต้องการร่วมพัฒนาโรงเรียนจริง จึงจะเดินทางมาช่วยในการประชุมระดมความคิดกับผู้นำชุมชน แต่ ผอ.เค เห็นว่าควรพาผู้นำชุมชนไปโรงเรียนรุ่งอรุณ และจะทำให้ได้เห็น Learning Space ของโรงเรียนรุ่งอรุณร่วมกัน จึงประชุมผู้นำชุมชนในวันที่ 10 ธันวาคม และพาผู้นำชุมชน จำนวน 15 คน เดินทางไปโรงเรียนรุ่งอรุณ ในวันรุ่งขึ้นคือ 11 ธันวาคม โดยผู้นำชุมชนช่วยในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เมื่อทุกคนได้เห็นพื้นที่เรียนรู้ ได้แรงบันดาลใจ และเห็นพ้องร่วมกัน 100% ว่าจะต้องกลับมาประยุกต์ใช้กับโรงเรียนให้ได้
เนรมิตได้ด้วยพลังกาย พลังใจ และพลังความสามัคคี
การดำเนินการจัดทำ Learning Space ของโรงเรียนบ้านสมานมิตร ไม่ต้องซื้อวัสดุอุปกรณ์ใด ๆ ได้ไม้เก่าเสาที่ทำบ้านต้นไม้จากโรงเรียนและวัด ช่างฝีมือคือผู้นำชุมชน ประธานสภาฯ ศิษย์เก่า การร่วมด้วยช่วยกันอย่างเข้มแข็งของคนในชุมชน โรงเรียน และสถาบันอาศรมศิลป์ ทำเสร็จภายใน 2 วัน ดั่งเนรมิต ความสำเร็จนี้ไม่ใช้ใช้เงินจ้าง หรือใช้เงินซื้อหามา แต่เกิดจากการร่วมมือรวมพลังและความช่วยเหลือของทุกคน
ความเชื่อมั่นศรัทธามาจากการลงมือทำ ผลงานเชิงประจักษ์ และผลดีที่ผู้เรียน
สุดท้าย ผอ.เค ได้เผยปัจจัยแห่งความสำเร็จ ความเชื่อมั่น ศรัทธาของผู้นำชุมชนต่อโรงเรียน สั่งสมมาจากโรงเรียนได้ลงมือทำ แสดงให้เห็นว่าโรงเรียนเอาใจใส่ในการพัฒนาคุณภาพลูกหลาน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มาอย่างต่อเนื่อง ใน 3-5 ปีที่ผ่านมา อาทิ โรงเรียนได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติได้ผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) เด่น 5 ปีซ้อน โรงเรียนผ่านเกณฑ์โรงเรียนสะอาดจากผู้ว่าราชการจังหวัด โรงเรียนเริ่มทำเรื่องโรงเรียนปลอดขยะสู่ชุมชนปลอดขยะ การเผยแพร่ฝึกปฏิบัติเรื่องสมาธิ ฯลฯ เมื่อโรงเรียนสร้างเด็กมีคุณภาพที่ดี ชุมชนเกิดความเชื่อมั่น และพร้อมเดินไปด้วยกันกับโรงเรียน
Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by กระวานหอม
อ้างอิง: เรืองกิตติ์ สุทธิวิรัตน์. ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสมานมิตร. สัมภาษณ์, 24 ธันวาคม 2562.
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์