สบน. ส่งสัญญาณให้โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เร่งปรับหลักสูตร ตาม พ.ร.บ. และเตรียมรองรับนโยบาย กพฐ. และ ศธ. ให้ทันก่อนเปิดเทอมแรก ปีการศึกษา 2563

16 ธันวาคม 2019

ผู้เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานคงได้รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จากรองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธาน กพฐ. ผ่านข่าว https://www.matichon.co.th/education/news_1811368  นี้แล้ว สาระสำคัญคือ ประเทศไทยจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ซึ่งเป็นหลักสูตรอิงมาตรฐาน เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ และจะจัดทำกรอบและโครงสร้างหลักสูตรดังกล่าวให้เสร็จ เตรียมความพร้อม และกำหนดให้นำไปทดลองใช้กับโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เริ่มในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 นี้

Concept โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

โรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาในระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นนฐานประเภทสามัญศึกษา ในสังกัด สพฐ. อปท. และ สช. ที่ได้รับอนุมัติให้เป็นโรงเรียนนำร่องตามพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้ให้โอกาสและอนุญาตให้โรงเรียนนำร่อง คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และทุกภาคส่วนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (ภาครัฐ อปท. ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม) ร่วมกันพัฒนาคุณภาพ ประสิทธิภาพ และลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ใช้โอกาสของการตรากฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะนี้ ขับเคลื่อนและดำเนินการให้เป็นพื้นที่ปฏิรูปการบริหารและการจัดการศึกษา รับการกระจายอำนาจและความอิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษา (เช่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด) และโรงเรียนนำร่อง ในการสร้างนวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งขยายผลนวัตกรรมการศึกษาด้วย

กลุ่มเป้าหมายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ปัจจุบัน มีจำนวนโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ กาญจนบุรี ศรีสะเกษ ระยอง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 271 โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. 226 โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัด อปท. 17 โรงเรียน เป็นโรงเรียนสังกัด สช. 28 โรงเรียน หากจำแนกตามขนาดของโรงเรียนและจังหวัด ดังตารางนี้

ความจำเป็นในการปรับหลักสูตรของโรงเรียนนำร่อง

สำหรับเรื่องหลักสูตรของโรงเรียนนำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่โรงเรียนนำร่อง จะต้องมีการปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนั้น ๆ เพราะหน้าที่และอำนาจในการนำหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามกฎหมายว่าด้วยการศึกาษแห่งชาติไปปรับใช้กับการจัดการศึกษาในโรงเรียนนำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 20 (4) แห่ง พ.ร.บ. ฉบับนี้  

ดังนั้น ในความหมายของมาตรา 20 (4) หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนนำร่อง ที่ได้จัดทำใหม่/ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 25 แล้ว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่วนกระบวนการก่อนที่คณะกรรมการขับเคลื่อนจะเห็นขอบจะต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาด้วย ซึ่งกระบวนการนี้จะดำเนินการโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนหรือโรงเรียนนำร่อง แล้วแต่กรณี ดังรายละเอียดในมาตรา 26

ขอเน้นย้ำว่า โรงเรียนนำร่องจะที่ต้องได้รับความเห็นชอบกรอบหลักสูตรที่จะนำไปใช้/หลักสูตรสถานศึกษาจากคณะกรรมการขับเคลื่อนก่อนสิ่งใด เมื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนเห็นชอบแล้วสิทธิ์ต่าง ๆ ของโรงเรียนนำร่องที่เขียนให้ทำได้ใน พ.ร.บ. จะสามารถทำได้ เช่น การใช้งบประมาณที่ได้รับจัดสรรจัดซื้อจัดหาสื่อ ตำรา หนังสือเรียนโดยอิสระ ซึ่งมาตรา 35 ระบุไว้ว่า การจัดซื้อโดยอิสระจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรตามมาตรา 25 เป็นต้น

โรงเรียนนำร่องต้องปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ

จากผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแต่ละจังหวัด และโรงเรียนนำร่อง พบว่า มีพื้นที่/โรงเรียนนำร่องที่ได้รับความเห็นชอบเรื่องหลักสูตรตามมาตรา 20 (4) และมาตรา 25 บางส่วนเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานกับการจัดการศึกษาในโรงเรียนนำร่องให้เหมาะสมกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 

คลิกที่ภาพเพื่อ Download เอกสาร “มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ. 2561”

เมื่อได้ทราบข่าวว่าหลักสูตรฐานสมรรถนะจะนำมาใช้ในโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงเป็นโอกาสดีที่คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทุกภาคส่วน และโรงเรียนนำร่อง จะลุกขึ้นมาปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์และความต้องการของชุมชนและพื้นที่ โดยนำสมรรถนะใหม่ หลักสูตรฐานสมรรถนะ ผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (Desired Outcomes of Education: DOE) ที่เป็นคุณลักษณะคนไทย 4.0 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 เพื่อให้โรงเรียนทุกแห่งยึดเป็นกรอบในการกำหนดมาตรฐานการศึกษา ทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองให้เป็นผู้เรียนรู้ (Learner Person) ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Co-creator) และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง (Active Citizen) ดูรายละเอียดที่นี่ http://online.fliphtml5.com/wbpvz/unfi/  มาพิจารณาดำเนินการ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และทันกาล

Writen by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by นายพงศ์สัณห์ อุ่นอก
Artwork by เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
ผู้นำชุมชนและผู้นำท้องถิ่น จ.นราธิวาส เอาใส่ใจในการสร้างคุณภาพโรงเรียน และแสวงหานวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนทีมพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ส่งผลงานเด่น เข้าร่วมนำเสนอในงานประชุมนานาชาติ และได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างมาก
บทความล่าสุด