เมื่อวานนี้ (12 ธันวาคม 2562) ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 15 อาคาร SM Tower สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการด้านนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ สกสว. เป็นเจ้าภาพจัดประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีงบประมาณ 2563-2564 มีศาสตราจารย์ นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นประธานการประชุม มี ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หรือ Program Management Unit – Area-based หรือ PMU-A เข้าร่วมประชุม มีผู้บริหารสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. ผู้บริหารองค์กรในภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnership: TEP) และผู้บริหารหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาร่วมหารือหลายหน่วยงาน อาทิ มูลนิธิสยามกัมมาจล สถาบันอาศรมศิลป์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.)
การประชุมครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนข้อค้นพบคร่าว ๆ จากงานวิจัยในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 3 พื้นที่คือ จังหวัดศรีสะเกษ ระยอง และสตูล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนหลักคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ในช่วงปีที่ผ่านมา ผู้นำเสนอภาพรวมและแต่ละโครงการวิจัย ได้แก่ คุณเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์, ศาสตราจารย์ ดร.สมพงษ์ จิตระดับ, รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม, คุณรัตนา กิติกร, คุณณิชา พิทยาพงศกร, คุณพงศ์ทัศ วนิชานันท์
ด้านสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) สพฐ. ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการส่งเสริมสนับสนุนและประสานงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ดร.อโณทัย ไทยวรรณศรี ผอ.สบน. และ ดร.เก ประเสริฐสังข์ ผอ.กลุ่มส่งเสริมการสื่อสารสังคม สบน. ได้นำเสนอความคืบหน้าในส่วนของนโยบายว่า 1) จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายครั้งแรก มีมติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายแล้ว 2) มีมติให้ดำเนินการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 6 พื้นที่ ที่ประกาศไปแล้วต่อไป ยังไม่เพิ่มพื้นที่ใหม่ และ 3) สบน. ได้ขอคำปรึกษาจาก ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เพื่อเตรียมบริหารจัดการงบประมาณและสูตรจัดสรร ตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 โดยไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระด้านงบประมาณของรัฐ โดยจะร่วมมือกับ TDRI ในการดำเนินการให้สำเร็จเพื่อเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2563 เป็นปีแรก นอกจากนั้น ดร.นวลพรรณ วรรณสุธี รอง ผอ.ศปบ.จชต. สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอสภาพการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การขับเคลื่อนองคาพยพทั้ง 3 จังหวัดไปพร้อมกันไม่ง่าย ที่ผ่านมามีการประชุมร่วมระหว่างจังหวัดโดยใช้งบประมาณที่ สพฐ. สนับสนุน รวมทั้งได้ใช้งบประมาณในโครงการต่าง ๆ ของ ศปบ.จชต. โดยเชิญโรงเรียนนำร่องเข้าร่วมเป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่ยังมีอุปสรรคในการนำไปสู่การปฏิบัติ ทั้งการประสานงานระหว่างเขตพื้นที่กับเขตพื้นที่ เขตพื้นที่กับศึกษาธิการจังหวัด และการดึงภาคธุรกิจ/เอกชนเข้าร่วม ทิศทางของพื้นที่ในขณะนี้ จะแยกดำเนินการเป็นรายจังหวัดเพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ
ที่ประชุมได้ร่วมกันสะท้อนผล ให้แง่คิดมุมมอง เพื่อมุ่งแสวงหาแนวทางการดำเนินการวิจัยในวงรอบต่อไป เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา รวมทั้งให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนงานสำคัญ (Flagship) ปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ที่สอดรับกับ “นโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ.2563 – 2570” ขอขมวดนำเสนอ 3 ประเด็น คือ การวิจัย การขับเคลื่อน และการปลดล็อก มีรายละเอียดดังนี้
1. การวิจัย ต่อยอดจากข้อค้นพบปีแรก กำหนด Research Framework กลาง มี Core/ เป้าหมายร่วมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ทั้งระดับโรงเรียน พื้นที่ และนโยบาย มี Milestone เพื่อการกำกับติดตามงานที่ชัดเจน ระยะเวลาในการทำ Area-based Research โดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 5 ปี ดำเนินการ 3 ระยะ (phase) ระยะแรกหาหัวใจ ระยะต่อไปทำวิจัยปฏิบัติการ และระยะสุดท้ายสกัดสรุปข้อค้นพบ สำหรับในพื้นที่ควรส่งเสริมให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) รับเป็นหัวหน้าโครงการวิจัย/นักวิจัยหลัก ในการออกแบบกลไกและโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ รวมทั้งผลักดันให้เกิดผลจริงและสรุปข้อค้นพบจากขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง มีการวิจัยเปรียบเทียบผลการปรับตัว การดำเนินการและการปลดล็อกระหว่างพื้นที่ ส่วนการวิจัยเชิงระบบจะเน้นการปลดล็อกเรื่องยาก/ซับซ้อน เช่น การบริหารงานบุคคล การบริหารงบประมาณ
2. การขับเคลื่อนมีระบบนิเวศ (ecosystem) เอื้อ ได้แรงหนุนเชิงนโยบาย มี Political Commitment มีกลไกขับเคลื่อนระดับจังหวัดเพราะมีโครงสร้างต่าง ๆ รองรับ ทั้งโครงสร้างงบประมาณ โครงสร้างข้อมูลความรู้ (สถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่) โครงสร้างภาคประชาสังคม โครงสร้างการบริหารราชการแผ่นดินระดับจังหวัด มีคนพื้นที่เป็นฟันเฟืองหลักและทุกฝ่ายประสานการทำงานกันจริงจัง ผอ.สพท.ในพื้นที่ต้อง “ลงมาเล่น” และเป็นผู้นำ มีโรงเรียนที่ขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงด้วย 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1) Growth Mindset 2) ภาวะผู้นำ และ 3) การมีส่วนร่วม สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการคือ การเปิดพื้นที่ให้มีการปรับบทบาทการทำงานและมีพลังในการทำงานร่วมกัน การพัฒนา Capacity Building บุคลากรทุกฝ่าย (เช่น ผอ.รร. ครู ศึกษานิเทศก์) เพื่อให้เกิด Transformative Learning โดยมีระบบพี่เลี้ยง หรือมี Catalyst ภายนอกเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนและกระตุ้นการทำงาน ควบคู่กับการเสริมสร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนสังคมสู่การเป็น Learning City
3. การปลดล็อกควรนิยาม “ปลดล็อก” ให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน การปลดล็อกควรเริ่มดำเนินการจากแนวทาง/ช่องทางที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 กำหนดไว้ ภาพความคาดหวังคือ ต้องการให้มีชุด/ Package ของการปลดล็อก โดยรวมทุกประเด็น/นวัตกรรม ที่พิสูจน์ชัดเจนแล้วว่า ทำแล้วการศึกษามีคุณภาพขึ้นได้จริง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ นำมาใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยใช้ Design Thinking เพื่อปรับลงดำเนินการให้เหมาะสมในแต่ละบริบท/พื้นที่ ดำเนินการ วัดและประเมินผล ศึกษาเรียนรู้ปัจจัยเงื่อนไขความสำเร็จของการขยายผลในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ระดับความยากง่ายของการปลดล็อกในแต่ละเรื่องมีไม่เท่ากัน ระดับความซับซ้อนของการแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ของแต่ละเรื่องมีไม่เท่ากัน การยกเลิกระบบเดิมอาจต้องมีการสร้างระบบใหม่ ที่สามารถรับประกันว่าดีกว่ามาทดแทน ซึ่งบางระบบนี้จำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาระบบให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ดังนั้น จึงต้องมาพิจารณาว่าหากเรื่องใดที่สามารถปลดล็อกได้ในทันที จะเสนอคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ผลักดันให้สามารถดำเนินการได้จริงและรวดเร็ว
Written by พิทักษ์ โสตถยาคมPhoto by ภัชธีญา ปัญญารัมย์ & เบญจวรรณวงศ์คำArtwork by เก ประเสริฐสังข์