เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 นายอาคม สุชาติพงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดสตูล นายยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตู นายอะหมาร สันนาหู ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนแก นายสุทธิ สายสุนีย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล และคณะ ร่วมกับ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานอนุกรรมการด้านยุทธศาสตร์ติดตามและประเมินผล ดร.พิทักษ์ โสตถยาคม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พร้อมทีมงานได้ร่วมรับฟังการพูดคุย หารือ แนวทางการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนในพื้นที่ ผ่านระบบ Zoom Meeting การประชุมครั้งนี้เป็นการพูดคุย หารือร่วมกันระหว่างผู้ร่วมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสำนักบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปีการศึกษา 2564 – 2569 และการหารือแนวทาง แผนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล
สิ่งที่ได้สังเกตเห็นและเรียนรู้จากการรับฟัง ผ่านการพูดคุยในวงสนทนาครั้งนี้ ที่นอกเหนือจากการได้เห็น ถึงความตระหนัก ความพยายาม และความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของศึกษาธิการจังหวัดสตูล ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสถานศึกษา ครูผู้สอนและบุคลากรทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินงาน อาทิ
- การบริหารงานวิชาการที่เข้มแข็ง การที่จะขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้บรรลุเป้าหมายและมีประสิทธิภาพนั้น จะต้องมุ่งเน้นความสำคัญในการบริหารงานวิชาการ ทั้งในด้านพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ การพัฒนาสมรรถนะครู การส่งเสริมให้ครูเห็นคุณค่าในกิจกรรมของนวัตกรรมการศึกษาที่ใช้อยู่ ส่งเสริมให้ครูเป็นนักออกแบบกิจกรรม นักสร้างสรรค์การเรียนรู้ในรูปแบบต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้เกิดขึ้นในระดับห้องเรียน นอกจากนี้คุณอภิชาติ กรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ยังสะท้อนให้เห็นว่าแกนสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมไปได้ ต้องให้ความสำคัญกับการบริหารงานวิชาการ โดยการลด ละ เลิก หรือเสียเวลากับการบริหารธุรการที่มากเกินไปจนทำให้การบริหารวิชาการเดินหน้าไม่ได้
- เน้นการบริหารแบบ Inside-out การดำเนินงานตามโครงสร้างของระบบราชการโดยทั่วไปเป็นการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ ดำเนินงานโดยการนำนโยบายจากส่วนกลางลงสู่สถานศึกษาที่เป็นหน่วยปฏิบัติ (Outside-In) ยึดโยงกับระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อบังคับที่ไม่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคศตวรรษที่ 21 การมี พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เกิดขึ้น ช่วยปลดล็อกให้สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรม มีอิสระในด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ตลอดจนการบริหารจัดการสถานศึกษาที่มีความคล่องตัว ทำให้สถานศึกษาสามารถกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของตนเองได้ (Inside-out) โดยอาศัยความร่วมมือในการจัดการศึกษาร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทในแต่ละพื้นที่ นับเป็นการบริหารจัดการศึกษาภายในสถานศึกษาที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จากการได้ฟังคุณอภิชาติ ทำให้เห็นว่าการบริหารจัดการศึกษาที่เข้มแข็ง และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนควรจะต้องเริ่มที่พลังจากข้างในระเบิดออกไป และค่อย ๆ ขยายออกไปสู่ภายนอก
- ความคาดหวังที่จะพัฒนาคุณภาพผู้เรียนภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ สถานศึกษานำร่อง
ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลส่วนใหญ่เป็นสถานศึกษาที่ขนาดเล็กและขาดแคลนทรัพยากรในการจัดการศึกษา เช่น งบประมาณ บุคลากร ตลอดจนสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย การเข้าร่วมเป็นสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำให้สถานศึกษามองเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา และมีอิสระที่จะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการสร้างหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ของพื้นที่และสถานศึกษานำร่องแต่ละแห่งได้ ออกแบบการจัดการศึกษาภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของชุมชนและสังคมมากขึ้น สร้างพื้นฐานอาชีพในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน จากการได้ฟังการสะท้อนคิดของคณะทำงานในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ทำให้เห็นถึงความหวังถึงการที่จะดำเนินการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา - การขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การกำหนดเป้าหมายการขยายผลของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่า การกำหนดเป้าหมายในเชิงปริมาณ เพื่อนำมาเป็นกรอบในการขยายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อาจจะไม่ตอบโจทย์ในการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมมากนัก หากจะให้การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมบรรลุวัตถุประสงค์นั้นควรให้น้ำหนักกับกำหนดเป้าหมายในเชิงคุณภาพเป็นสำคัญ เน้นการสร้างเครือข่าย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถานศึกษาด้วยกันเอง ส่งเสริมให้สถานศึกษานำร่องสามารถเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ เพื่อส่งเสริมพัฒนาให้สถานศึกษามีหลักสูตรหรือนวัตกรรมที่เป็นของตนเอง การขยายผลและการนำไปใช้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่น ควรมาจากการสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของสถานศึกษานั้น ๆ เพื่อให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานอื่นนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของสถานศึกษาของตนเอง นับได้ว่าเป็นสร้างความเข้มแข็งจากระดับสถานศึกษาให้ค่อย ๆ พัฒนาจนขยายเป็นองคาพยพที่ขับเคลื่อนไปพร้อมกันในระดับจังหวัดต่อไป นอกจากนี้การสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในสถานศึกษานำร่อง ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้การขยายผลการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็ว
จากการที่ได้รับฟังการพูดคุยในครั้งนี้ เราได้เห็น ได้ฟัง และสัมผัสได้จากการสะท้อนคิดเหล่านี้ว่าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูลได้ขับเคลื่อนด้วยการบริหารจัดการศึกษาที่เข้มแข็งแบบ Inside-out วางเป้าที่คุณภาพ มุ่งเน้นความสำคัญในการบริหารงานวิชาการ ทั้งในด้านพัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ การพัฒนาสมรรถนะครู การส่งเสริมให้ครูเห็นคุณค่าในกิจกรรมของนวัตกรรมการศึกษาที่ใช้อยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาในพื้นที่อื่นและสามารนำไปประยุกต์เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้
ผู้เขียน : ศศิธร ศรีวงษ์ญาติดี, อนุสรา สุขสุคนธ์, อนงนาฏ อินกองงาม, ดุสิตา เลาหพันธุ์,
ลัดดาพรรณ จันทร์ปรีดา คณะนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ หลักสูตรปริญญาดุษฎีบัณฑิต
สาขาวิชาการบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ