พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษาที่ยั่งยืน

6 มกราคม 2025

คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ ได้จัดทำยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางการบริหารและกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้ตามบริบทพื้นที่ โดยมีสถานศึกษานำร่องทั้งสิ้น 163 แห่ง โดยสถานศึกษานำร่องได้มีการพัฒนานวัตกรรมการศึกษา 10 นวัตกรรมดังนี้ 1) นวัตกรรมเชิงระบบ 2) นวัตกรรม BBl 3) นวัตกรรมมอนเตสซอรี 4) นวัตกรรม RBL 5) นวัตกรรม LSOA 6) นวัตกรรมองค์รวม 7) นวัตกรรม PA 8) นวัตกรรม SMT 9) นวัตกรรม Thinking School 10) นวัตกรรมเชิงพื้นที่ ในปีงบประมาณ 2567 นี้ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงาน ดังนี้

  • เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับจังหวัด SISAKET FORUM #4 “โครงการจัดการความรู้เพื่อการจัดมหกรรมโรงเรียนและครูสู่ผู้นำการเปลี่ยนแปลง”
  • สถานศึกษานำร่อง 4 แห่ง ได้แก่ 1) โรงเรียนบ้านหญ้าปล้อง 2) โรงเรียนเทศบาล 3 (เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา) 3) โรงเรียนบ้านกระถุน 4) โรงเรียนบ้านพรมเจริญ เข้าร่วมเวที TEP Forum 2024
  • รับการศึกษาดูงานจากพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.บุรีรัมย์
  • การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาสถานศึกษานำร่อง รุ่นที่ 3
  • การขับเคลื่อนหลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะและถอดบทเรียนพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะสู่การวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ
  • การประชุมขับเคลื่อนการพัฒนาและยกระดับการศึกษาให้ได้มาตรฐาน ปี พ.ศ. 2567
  • การดำเนินงาน โครงการขับเคลื่อนขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเองเชิงพื้นที่ (TSQ-A)

เอกสารเพิ่มเติม

 

 

 

และจากการมีส่วนเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือยังสถานศึกษานำร่องของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งผลให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ มีนวัตกรรมการศึกษาที่เป็นต้นแบบได้ พร้อมด้วยสถานศึกษานำร่องที่มีผลการเรียนรู้ที่สะท้อนว่าผู้เรียนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้แนวใหม่ ทำให้มีความสามารถหรือสมรรถนะสูงขึ้น และอื่นๆ ได้แก่    

  1. นวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัด ที่เป็นต้นแบบได้
  2. นวัตกรรมการศึกษาระดับสถานศึกษานำร่องที่เป็นต้นแบบได้
  3. การมีส่วนเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือยังสถานศึกษานำร่องของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (กขน.)
  4. ตัวอย่างของสถานศึกษานำร่องที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง/พัฒนาการที่ดีขึ้นจากการเรียนการสอน
  5. จากการสนับสนุนงบประมาณของ สพฐ. ช่วยให้สถานศึกษานำร่องมีนวัตกรรมการศึกษาอย่างไรบ้าง
  6. การใช้สิทธิพิเศษของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจาก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
  7. สถานศึกษาที่มีผลสะท้อนถึงผู้เรียนที่ได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้แบบใหม่ จากการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครู ทำให้ผู้เรียนมีความสามารถหรือสมรรถนะสูงขึ้น

โดยมีข้อมูลประกอบดังนี้

1.นวัตกรรมการศึกษาระดับจังหวัด ที่เป็นต้นแบบได้
ชื่อนวัตกรรม : นวัตกรรมการบริหารจัดการ “ทีมวิชาการเชิงพื้นที่เชื่อมโยงทีม Coach ต้นสังกัด สถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ
จุดเด่น : การขับเคลื่อนงานร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการจัดการโมเดลพัฒนาสถานศึกษานำร่องพื้นที่ ภายใต้กรอบวิชาการ 5 ด้าน ได้แก่  

  1. หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะ
  2. นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้
  3. การวัดผลสัมฤทธิ์ผู้เรียนฐานสมรรถนะ
  4. การประกันคุณภาพภายในพื้นที่
  5. การสร้างเครือข่ายเชิงรุก

ช่วยแก้ปัญหา/ช่วยพัฒนา : ทำให้เห็นภาพแผนการขับเคลื่อนงานทั้งระยะสั้นและระยะยาวและสมาชิกในทีมสามารถสร้างทีมโค้ชต้นสังกัด เพื่อทำงานโดยตรงกับโรงเรียนนำร่อง ทำให้ลดช่องว่างการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คณะอนุกรรมการด้านบริหารวิชาการ วิจัยติดตามประเมินผลเป็นหัวใจการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา มีการขับเคลื่อนเชื่อมกับการทำงานของโครงการ TSQM-A และ Agenda 10 + 1 จังหวัด
ศรีสะเกษ  ทำหน้าที่ดำเนินการเพื่อให้จังหวัดจัดการศึกษาด้วยตนเอง โดยใช้กลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษเป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนและใช้ทรัพยากรร่วมกันในการดำเนินงานทางวิชาการทั้งระบบ

2.นวัตกรรมการศึกษาระดับสถานศึกษานำร่องที่เป็นต้นแบบได้
ชื่อนวัตกรรม : โรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ด้วยจิตศึกษา PBL และ PLC
จุดเด่น : นวัตกรรมสำหรับผู้เรียน คือ จิตศึกษา PBL
กระบวนการวิถีอนุบาลจิตศึกษา มีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ

  1. บริบทที่เป็นมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด สงบ มีวิถีที่มั่นคง คุณครูมี mindset ที่ดี ใช้จิตวิทยาเชิงบวกในการสื่อสารกับนักเรียนอยู่เสมอ
  2. กิจกรรมที่เป็นวิถีอนุบาลจิตศึกษา และบูรณาการ PBL: Play based Learning ผ่าน 5 งานชีวิต ได้แก่ งานบ้าน งานครัว งานสวน งานสำรวจ งานเล่น เป็นการบ่มเพาะจิตใจภายในให้มีความฉลาดรู้รอบด้าน
  3. มีกระบวนการ PLN ทั้งในระดับเครือข่ายโรงเรียน องค์กร หน่วยงาน และความร่วมมือจากผู้ปกครองที่เป็นเสาหลักของเด็กโดยใช้กระบวนการ CoP : Community of Pillar

นวัตกรรมสำหรับครู คือ PLC
– การสนทนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ช่วยขับเคลื่อนการทำงานด้วยวง PLC ซึ่งเป็นเครื่องมือพัฒนาครู

ช่วยแก้ปัญหา/ช่วยพัฒนา : นวัตกรรมสำหรับผู้เรียน คือ จิตศึกษา PBL
– ช่วยให้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง
– มีสมาธิในการเรียนรู้ ทำงานจนสำเร็จ

นวัตกรรมสำหรับครู คือ PLC  
– สร้างรอยเชื่อมต่อนักเรียนจากชั้นอนุบาบปีที่ 1 – ประถมศึกษาปีที่ 6

3.การมีส่วนเข้าไปส่งเสริม สนับสนุนและช่วยเหลือยังสถานศึกษานำร่องของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
 กขน. ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษเป็นประธาน ได้สนับสนุนการขับเคลื่อนงาน โดยกำหนดให้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็น 1 ใน 10 วาระ จังหวัดศรีสะเกษ และสนับสนุนงบประมาณในการ

  • พัฒนากรอบหลักสูตร จ.ศรีสะเกษ
  • พัฒนานวัตกรรมการศึกษา
  • จัดซื้ออุปกรณ์ ปรับปรุงห้องปฏิบัติการในการจัดการเรียนการสอน Active Learning
  • พัฒนาหลักสูตรฐานสมรรถนะ
  • จัดซื้อวัสดุสื่อการเรียนการสอนตามนวัตกรรมของโรงเรียนนำร่อง
  • จัดค่ายพัฒนาทักษะตามกรอบหลักสูตร SISAKET ASTECS
  • พัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ
  • การพัฒนาเครื่องมือประเมินผลสัมฤทธิ์ด้วยกระบวนการสังเคราะห์ตามบริบทจังหวัดศรีสะเกษ
  • การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษานำร่อง

4.ตัวอย่างของสถานศึกษานำร่องที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลง/พัฒนาการที่ดีขึ้นจากการเรียนการสอน
โรงเรียนบ้านบึงมะลู  สพป.ศก.4 ซึ่งมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้าน
1) ด้านคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งพบว่า ผู้เรียนมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี  มีความรู้ ทักษะพื้นฐาน และเจตคติที่ดีต่องานอาชีพ สามารถคิด วิเคราะห์ สามารถอ่าน เขียน สื่อสารและคิดคำนวณ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามหลักสูตรสถานศึกษา
2) ด้านกระบวนการบริหารและการจัดการ ซึ่งพบว่า สถานศึกษานำร่องมีเป้าหมาย วิสัยทัศน์และ
พันธกิจชัดเจน การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสำเร็จตามเป้าหมาย มีการพัฒนาด้านวิชาการที่เน้นคุณภาพผู้เรียนรอบด้าน มีการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้
3) ด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (Active Learing) ซึ่งพบว่ามี
การจัดการเรียนรู้ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีสื่อ เทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ มีการบริหารจัดการชั้นเรียนเชิงบวก และประเมินผลผู้เรียนพร้อมนำผลมาพัฒนาผู้เรียน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสะท้อนกลับ เพื่อพัฒนาปรับปรุงการจัดการเรียนรู้

เอกสารเพิ่มเติม

5.จากการสนับสนุนงบประมาณของ สพฐ. ช่วยให้สถานศึกษานำร่องมีนวัตกรรมการศึกษาอย่างไรบ้าง
สพฐ. ได้จัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปให้แก่สถานศึกษานำร่องแต่ละแห่ง เพื่อพัฒนานวัตกรรมการศึกษาโดยสถานศึกษานำร่องได้จัดทำแผนงาน หรือโครงการเพื่อรองรับการใช้เงินซึ่งต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์
ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งส่งผลให้มีนวัตกรรมการศึกษา เช่น การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมพหุปัญญาให้กับผู้เรียนโดยเน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในรูปแบบ Active learning  พัฒนานวัตกรรมการศึกษาและการเรียนรู้เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา และส่งเสริมการจัดการเรียนรู้สมรรถนะตามหลักสูตรฐานสมรรถนะ 

6.การใช้สิทธิพิเศษของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจาก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562
จากการสอบถามข้อมูลจากศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ทำให้ทราบว่ามีสถานศึกษานำร่องที่ใช้สิทธิพิเศษจาก พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562  ที่สามารถเห็นผลดีหรือความแตกต่างได้ชัดเจน คือ

  1. โรงเรียนบ้านบึงมะลู สังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 ใช้ความพิเศษในเรื่อง งบประมาณในการจัดซื้อหนังสือตามความต้องการจำเป็นของนวัตกรรม ส่งผลให้สถานศึกษาสามารถจัดซื้อหนังสือ สื่อตามความต้องการจำเป็น ครูสามารถสอนเป็นไปตามกิจกรรม และผู้เรียนได้รับความรู้ตามทักษะพื้นฐาน คุณลักษณะอันพึงประสงค์และค่านิยมตามที่สถานศึกษากำหนด…
  2. โรงเรียนบ้านปะทาย สังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต 4 ใช้ความพิเศษในเรื่อง การกระจายอำนาจในการใช้หลักสูตรสถานศึกษา ได้แก่ การปรับหลักสูตรสถานศึกษาให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะสู่การจัดการเรียนรู้และนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน โดยเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL และ PLC
  3. การประเมินในรูปแบบใหม่ เช่น การประเมินเพื่อพัฒนา ซึ่งสถานศึกษใช้หลักการประเมินตามสภาพจริงจากชิ้นงาน ภาระงาน ประมเมินทักษะการคิด ทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ และการประเมินสมรรถนะหลักจากหน่วยการเรียนรู้ ด้วยสถานการณ์ หรือโจทย์ปัญหา

การประเมินรวบยอด เป็นการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียนรู้ตอนสิ้นภาคเรียน หรือสิ้นปีการศึกษา ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบผลการเรียนรู้และความก้าวหน้าของผู้เรียนแต่ละคน นวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของ

7.สถานศึกษาที่มีผลสะท้อนถึงผู้เรียนที่ได้รับประสบการณ์ในการเรียนรู้แบบใหม่ จากการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของครู ทำให้ผู้เรียนมีความสามารถหรือสมรรถนะสูงขึ้น
โรงเรียนบ้านกระถุน สังกัด สพป.ศรีสะเกษ เขต 1 มีนวัตกรรมด้านการบริหารหลักสูตร โดยใช้หลักสูตรสถานศึกษาฐานสมรรถนะเป็นแนวทางการจัดการศึกษา ส่งผลให้มีการบริหารหลักสูตรที่มุ่งเน้นการพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียน พัฒนาทักษะ ทัศนคติ และความสามารถในการนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน มีการจัดการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรม active Learning ส่งผลให้ผู้เรียนรู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต และสุขภาวะที่ดี มีการประเมินในรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย เช่น การประเมินจากโครงงาน และการสังเกตพฤติกรรม และผลสัมฤทธิ์ที่เกิดกับผู้เรียนทั้งด้านสติปัญญา อารมณ์และสังคม

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จ.ศรีสะเกษ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้ร่วมขับเคลื่อนงานพร้อมด้วยส่งเสริม สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือและติดตามสถานศึกษานำร่อง เพื่อให้จัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพบรรลุวัตถุประสงค์ของการเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ส่งผลให้สถานศึกษานำร่องได้พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษานำร่องและตามความถนัดของผู้เรียน และผู้เรียนได้รับการพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ จากการลงมือปฏิบัติ ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นในยุคปัจจุบันนี้ที่ทำให้เห็นว่า “การเรียนรู้ เกิดจากการลงมือทำ” ผู้เขียนขอขอบคุณ และขอชื่นชมพร้อมเป็นกำลังใจให้คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะจากมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน ผู้บริหารสถานศึกษานำร่องตลอดจนถึงคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่ได้ร่วมขับเคลื่อนงานตามโจทย์ของความเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งต้องมีความทุ่มเทและเสียสละเป็นอย่างสูง ในการสร้างสรรค์และเสริมสร้างให้ความเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาได้สร้างคุณภาพให้แก่ผู้เรียนและตอบโจทย์ความต้องการการสร้างคนของจังหวัดศรีสะเกษ

 


แหล่งข้อมูล: นางธนัชชญานันทน์ อินตะนัย
ผู้เขียน&กราฟิกดีไซน์เนอร์: น.ส.ปราชญาพร  แช่ใจ

“Learning by Doing” นวัตกรรมการศึกษาแห่งยุคจากโรงเรียนอิศรานุสรณ์BKD 5G Model: นวัตกรรมบริหารสถานศึกษาสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืน