“สมหมาย ปาริจฉัตต์” เชียร์ สบน. สื่อสารงานเชิงรุก ขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

12 ธันวาคม 2019

คุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ รองประธานกรรมการ บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับทราบข้อมูลการแบ่งงานของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ที่มอบหมายผู้รับผิดชอบในการส่งเสริมและประสานงานของแต่ละจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จึงฝากประเด็นข้อคิดในการดำเนินงานมาดังนี้

“ติดตามความเคลื่อนไหวของสำนักบริหารงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ทางเว็บไซต์เรื่อยๆ ล่าสุดที่มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบของผู้ประสานงานในแต่ละจังหวัด ก็เป็นอีกก้าวย่างหนึ่งเพื่อทำให้งานเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการกระจายงาน บทบาทไม่กระจุกตัว กระบวนการผลิต แสวงหาผลงานนวัตกรรมดีๆ มาบอกกล่าวกันอย่างน้อยทุกสัปดาห์ละหนึ่งชิ้น เป็นการทำงานเชิงรุก

ประเด็นที่ผมขอร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการแสวงหาผลงานมานำเสนอ หากมุ่งเน้นที่นวัตกรรมใหม่ๆ ตลอด ผู้ประสานงานอาจจะเครียด จะมีนวัตกรรมอะไรกันบ่อยทุกสัปดาห์ ผู้ประสานงานอาจนำประเด็นปัญหาตามสถานการณ์ที่อยู่ในกระแสมาเป็นฐานช่วยคิดหาผลงานมานำเสนอ อาจทำให้ง่าย ไม่เครียดที่ต้องหาอะไรใหม่ตลอด

ประเด็นตามวาระ หรือสถานการณ์ เป็นต้นว่า ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ปัญหาช่องว่างระหว่างเขตพื้นที่กับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ประเด็นหนี้ครู  ประเด็นกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ประเด็นทวิศึกษา ฯลฯ ในแต่ละประเด็นเหล่านี้ ในแต่ละพื้นที่นวัตกรรม มีแนวทางแก้ไข จนปัญหาลุล่วง หรือลดลงไปด้วยกระบวนการอะไร ทำอย่างไร ใครทำ ฯลฯ


เอาวาระเป็นตัวตั้ง งานของแต่ละพื้นที่นวัตกรรมจะออกมามากมาย  เหมือนกับการทำงานของนักข่าว บรรณาธิการข่าวคิดหาแง่มุม ประเด็นข่าว จนทำข่าวเชิงรุกออกมาได้นั่นเอง

จึงเรียนมาเพื่อแลกเปลี่ยน ข้อคิด เชยอย่างไรไม่ว่ากันนะครับ”

จากข้อคิดของคุณสมหมาย ปาริจฉัตต์ ข้างต้น ถือเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ไม่เฉพาะบุคลากรของสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. เท่านั้น แต่ยังเป็นแนวทางที่ผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะมองเห็นประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับคุณภาพและอยู่ในบริบทการทำงานจริง ดังที่คุณสมหมายยกตัวอย่างให้เห็น ซึ่งตรงกับความมุ่งหวังตั้งใจของคณะทำงานสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ที่ต้องการให้การสื่อสารสาธารณะความเคลื่อนไหวของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เป็นการรวบรวมประกายความคิด เกร็ดเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ ของความพยายามในการเปลี่ยนแปลง ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ภายใน 7 ปี ที่ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 บังคับใช้ แล้วสิ่งดีที่ค้นพบในพื้นที่จะเป็นกำลังใจให้ครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม ร่วมพัฒนาและเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างมีพลัง

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by Matichon Online
Artwork by เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
การขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมของโรงเรียนเขื่อนบางลาง สพป.ยะลา เขต 2ผนึกกำลังความคิด กำหนดทิศทางวิจัย ใน Education Sandbox ควบคู่การปลดล็อกอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน โดยความร่วมมือของภาคีเพื่อการศึกษาไทย หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ.
บทความล่าสุด