ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ส่งผลต่อทักษะการใช้ชีวิตในสังคมของเด็กในยุคปัจจุบัน ยังคงมีเด็กบางส่วนที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีทักษะในการแก้ไขปัญหา ไม่มีเป้าหมายในชีวิต ไม่รู้ว่าตนเองชอบอะไร ด้วยเหตุผลนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้โรงเรียนบ้านปลาดาวพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่เรียกว่า “นวัตกรรมห้องเรียนนักสร้าง” (MAKERSPACE) เพื่อสร้างบ้านหลังที่สองให้กับเด็กที่ด้อยโอกาส ทำให้พวกเขารู้สึกว่า สามารถทำอะไรก็ได้ตามที่ตนเองชอบ และอยากทำ หรือทำในสิ่งที่ตนเองรู้สึกภูมิใจ มากกว่าการท่องจำตามหลักสูตรในห้องเรียน
“ การทำงานของเราตั้งต้นจากการคิดว่าจะทำยังไงให้เขามี Fulfillment ในชีวิต คิดว่าความสุขของเขามันเกิดจากอะไรบ้าง ทำให้เราตั้งคำถามกับการจัดการศึกษาว่าถ้าเราเอาความสุขของเขาไปผูกกับวัตถุหรือสิ่งของที่คนอื่นซื้อหามาให้ ทั้งชีวิตเขาจะเป็นยังไง… ” ดร.นรรธพร จันทร์เฉลี่ย เสริบุตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมูลนิธิสตาร์ฟิชเอ็ดดูเคชั่น พูดถึงที่มาของการใช้นวัตกรรม MAKERSPACE หรือห้องเรียนนักสร้าง รวมถึงกิจกรรมแบบ Active learning และ project/problem based learning ซึ่งเป็นหัวใจของโรงเรียนบ้านปลาดาว โดยเด็กจะถูกฝึกให้รู้จักตั้งคำถาม และครูจะมีวิธีกระตุ้นเพื่อให้เด็กใช้จินตนาการ รู้จักการวางแผน สะท้อนกลับทางความคิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันจะดีกว่านี้ได้อีก สามารถพัฒนางานได้ รวมถึงการฝึกให้เป็นคนที่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่โกรธ และกล้าแสดงความคิดเห็น พร้อมกันนี้ โรงเรียนบ้านปลาดาวยังสร้างบรรยากาศของห้องเรียนที่เอื้อต่อการกระตุ้นจินตนาการ กล่าวคือ เด็กทุกคนจะต้องเข้าห้อง MAKERSPACE ตามที่ตนเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็น ห้อง Studio ห้องช่าง ห้องอาหาร ห้องศิลปะ ห้องผ้า และห้อง story telling อันเป็นนวัตกรรม ที่ช่วยประเมินว่าเด็กมีความชอบส่วนตัวอะไร และเก็บเป็นข้อมูลในการสื่อสารให้ผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกไม่จำเป็นต้องชอบวิชาการเพียงอย่างเดียว
“ นวัตกรรมห้องเรียนนักสร้าง ” (MAKERSPACE) ถือเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่สถานศึกษาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศกำลังให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เข้าใจง่าย สถานศึกษาสามารถนำไปปรับใช้ได้ง่าย ทั้งยังช่วยพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคปัจจุบัน
ซึ่งโรงเรียนบ้านปลาดาว เป็น 1 ใน 61 โรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ มีนวัตกรรมห้องเรียนนักสร้าง” (MAKERSPACE) ที่ถือว่าเป็นนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่มีความโดดเด่น เป็นแบบอย่างได้ ผู้สนใจสามารถศึกษาแนวทางที่น่าสนใจนี้ได้จากบทความของ The Potential “เปิดห้อง MAKERSPACE โรงเรียนบ้านปลาดาว: แค่นั่งมองต้นไม้เฉย ๆ ก็รู้ว่าเรียนรู้จากมันได้” ดูที่นี่ >>> คลิก <<<
สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
Written by จารุวรรณ กาบซ้อน
Photo by thepotential.org
Artwork by เก ประเสริฐสังข์ ศศิธร สวัสดี และภัชธีญา ปัญญารัมย์