เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562 เวลา 14.00 – 18.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 34 ฝั่ง High Zone ตึก SM Tower ภาคีเครือข่ายเพื่อการศึกษาไทย ร่วมกับ ผู้แทน สพฐ. สพท. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และเครือข่ายใน 3 พื้นที่ (ศรีสะเกษ ระยอง สตูล) ได้หารือแนวทางการขับเคลื่อนและการวิจัยพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ปี 2 ได้สะท้อนสภาพปัจจุบันของการดำเนินงาน และแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไปของแต่ละพื้นที่ ดังนี้
สตูล ขณะนี้ได้มีการใช้หลักสูตรใหม่ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองได้รับทราบแล้ว แผนการดำเนินงานในระยะต่อไป จะเน้น Digital Platform และการวัดและประเมินผลฐานสมรรถนะ รวมทั้งประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับ ผอ.เขต บุคลากร/ศึกษานิเทศก์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสตูล
ระยอง ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาผู้นำสถานศึกษานำร่อง โดยสถาบันอาศรมศิลป์ ซึ่งเป็นวิทยากรหลักขับเคลื่อนเชิงวิชาการของพื้นที่ ในระยะต่อไปจะเน้น การขยายผลจากสถานศึกษานำร่องเดิมเพิ่มสถานศึกษาในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานศึกษาเอกชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วม จะเน้นการประสานความร่วมมือให้เข้มข้นมากขึ้นของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดเพิ่มชึ้น รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ให้กับผู้เกี่ยวข้องให้มากขึ้น จะเน้น Competency Based ทั้งการจัดการเรียนรู้และฝึกอบรมครู
ศรีสะเกษ การดำเนินงานของสถานศึกษานำร่องแบ่งเป็น 7 กลุ่ม แต่ละกลุ่มใช้นวัตกรรมที่แตกต่างกันรวม 7 นวัตกรรม โดยได้รับการพัฒนาจากพี่เลี้ยง (Mentor) ซึ่งเป็นผู้เชียวชาญในแต่ละนวัตกรรมเป็นการเฉพาะ ศรีสะเกษมีความเข้มแข็งในการดำเนินงานด้วยทีม SLP หรือเครือข่ายการเรียนรู้จังหวัดศรีสะเกษ และการทำงานบนฐานความสมัครใจของผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ แนวทางการดำเนินงานระยะต่อไปจะสนับสนุนให้มีศึกษานิเทศก์เข้ามาช่วยพัฒนาให้เข้มข้นมากขึ้น โดยเชื่อมโยงกับภารกิจหลักของศึกษานิเทศก์ จะลดช่องว่างในการทำงานระหว่างกันของหน่วยงานทางการศึกษาในพื้นที่ พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจให้กับสถานศึกษาอื่น ๆ ด้วย ที่สำคัญพื้นที่วัตกรรมการศึกษาจังหวัดศรีสะเกษ จะจัดให้มีการรับฟังเสียงและความต้องการของทุกภาคส่วนที่อยู่ในพื้นที่มาใช้ในการออกแบบการขับเคลื่อนงานร่วมกัน
แนวทางการวิจัยและการขับเคลื่อน ปีที่ 2 จะให้ภาคีที่เกี่ยวข้องไปจัดทำข้อเสนอโครงการที่สะท้อนความต้องการจะเป็นและบริบทแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การสนับสนุนตรงประเด็นและเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของพื้นที่ เช่น การขยายสถานศึกษานำร่อง การสื่อสารสังคม การออกแบบการวัดผลและการประเมินผลแบบใหม่ การจัดทำ Social Lab ของพื้นที่ นอกจากนั้นที่ประชุมยังได้กำหนดกิจกรรมสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน เช่น การเข้าพบเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขอรับการสนับสนุนเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนงานตาม พ.ร.บ. พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562