“TRAT Model” นวัตกรรมการศึกษาพัฒนาผู้เรียน

23 ธันวาคม 2024

ตราดเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษา ภายใต้แนวทาง TRAT Model” ซึ่งเป็นโมเดลที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดตราดพัฒนาขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญในการยกระดับการศึกษาของนักเรียนผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ด้วยแนวคิด TRAT HI (ตราด ฮิ)” เน้นการสร้างทีมงานที่แข็งแกร่ง (Team) การพัฒนาความสัมพันธ์อันดี (Relationship) ความพยายามเพื่อความสำเร็จ (Attempt) และการดูแลช่วยเหลือ (Treat/Take care) เพื่อให้เกิดความสุข (Happy) และภาพลักษณ์ความสำเร็จ (Image) ที่ยั่งยืน

หนึ่งในความสำเร็จที่โดดเด่นคือการพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับจุดแข็งของจังหวัดตราด 5 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม การเกษตร การค้าชายแดน และการดำรงชีวิตแบบพอเพียง จากจุดแข็งของจังหวัดนำไปสู่การกำหนดกรอบหลักสูตรจังหวัด ซึ่งมีสถานศึกษานำไปปรับใช้ในการพัฒนาหลักสูตร อาทิ โรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม สพม.จันทบุรี ตราด ที่กำหนดให้มีหลักสูตรการสร้างโรงเรียนผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นนวัตกรรมระดับโรงเรียน เป็นนวัตกรรมด้านหลักสูตรของโรงเรียน ที่เป็นแนวคิดให้โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็กในจังหวัดตราด จำนวน 10 โรงเรียนนำไปใช้เป็นแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการตามจุดมุ่งหมายของจังหวัดตราด คือมุ่งสู่การเป็นนวัตกร หรือผู้ประกอบการ

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมการศึกษาระดับโรงเรียนที่เป็นต้นแบบได้ คือ
1. นวัตกรรมโรงเรียนเชิงระบบ จำนวน 9 โรงเรียน ประกอบด้วย โรงเรียนวัดสลักเพชร โรงเรียนชุมชนวัดอ่าวช่อ โรงเรียนชุมชนวัดท่าพริก (จริยาอุปถัมภ์) โรงเรียนบ้านทุ่งไก่ดัก โรงเรียนบ้านคลองเจ้า โรงเรียนบ้านอ่าวพร้าว โรงเรียนบ้านหนองบอน โรงเรียนวัดวรุณดิตถาราม และโรงเรียนวัดหนองคันทรง สพป.ตราด ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่มาจากแนวคิดของโรงเรียนลำปลายมาสพัฒนาของครูใหญ่วิเชียร ไชยบัง เน้นการดำเนินงานที่สำคัญ คือ ให้คนในองค์กรเห็นเป้าหมายร่วมขององค์กรและสามารถร่วมมือกันได้ โดยทบทวนหลักสูตรสถานศึกษาและนำมาผนวกเข้ากับหลักสูตรท้องถิ่น วางแผนออกแบบ ทำความเข้าใจต่อนวัตกรรม รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ผู้เรียนในบริบทของตน 

2. โรงเรียนที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับบริบทของตนเอง ในระดับ สพป.ตราด โรงเรียนบ้านไม้รูด โรงเรียนอนุบาลตราด โรงเรียนบ้านอ่างกระป่อง โรงเรียนวัดห้วงโสม เป็นต้น

3. กลุ่มโรงเรียนมัธยมขนาดเล็ก สังกัด สพม.จันทบุรี ตราด ที่มุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการ

สถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดตราดได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการที่ก้าวหน้าอย่างน่าประทับใจ การพัฒนานี้เกิดขึ้นจากการตั้งคำถามสำคัญ 3 ข้อ ที่ช่วยให้สถานศึกษาได้ค้นหาตนเองและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลง โดยคำถามเหล่านี้ ได้แก่ 1.การพิจารณาถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังเข้าเป็นโรงเรียนนำร่อง 2.การตั้งเป้าหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน 3.การกล้าออกนอกกรอบเดิมที่เคยมีมาจากกระบวนการดังกล่าว โรงเรียนในจังหวัดตราดได้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่สำคัญ เริ่มตั้งแต่การปรับเปลี่ยนหลักสูตรในโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทและความต้องการของผู้เรียนและชุมชน นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบของโรงเรียนในเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแนวทางของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ในขณะเดียวกัน โรงเรียนมัธยมขนาดเล็กได้กำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ผ่านการปรับเปลี่ยนหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน โดยมีครูต้นแบบที่เป็นผู้นำในการสร้างสรรค์วิธีการสอนที่ตอบโจทย์ยุคสมัย ทั้งนี้ โรงเรียนหลายแห่งยังได้จัดทำหลักสูตรที่เน้นพัฒนานักเรียนให้เป็นนวัตกรและผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยมุ่งเน้นความเชี่ยวชาญใน 5 ด้านที่เป็นจุดเด่นของจังหวัดตราด ได้สะท้อนถึงความตั้งใจและความมุ่งมั่นของสถานศึกษานำร่องพื้นที่นวัตกรรม ที่ไม่เพียงมองหาแนวทางใหม่ ๆ ในการพัฒนา แต่ยังพร้อมก้าวข้ามกรอบความคิดเดิม เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระบบการศึกษาไทย และสร้างนักเรียนที่มีความพร้อมสำหรับอนาคตอย่างแท้จริง

ทั้งนี้กลุ่มโรงเรียนมัธยม สังกัด สพม.จันทบุรี ตราด ได้ใช้ความพิเศษในเรื่องความอิสระและการได้รับการกระจายอำนาจตาม พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอน โดยมีการปรับหลักสูตร ปรับการจัดการเรียนการสอนตามความต้องการของสถานศึกษา

ทำให้นักเรียนได้รับประสบการณ์เรียนรู้แนวใหม่ ให้นักเรียนมีสมรรถนะสูงขึ้น เรียนดี มีความสุขมากขึ้น ที่เห็นชัดที่สุดคือ โรงเรียนสังกัด สพม.จันทบุรี ตราด เช่นโรงเรียนเขาน้อยวิทยาคม โรงเรียนวัดคิรีวิหาร (สมเด็จพระวันรัตน์อุปถัมภ์) ส่วนโรงเรียนสังกัด สพป.ตราด ได้แก่ โรงเรียนเชิงระบบ จำนวน 10 โรงเรียน เช่น โรงเรียนวัดสลักเพชร ส่วนโรงเรียนที่มีการปรับหลักสูตรอื่น ๆ ประมาณ 30 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านไม้รูด โรงเรียนบ้านอ่างกะป่อง  โรงเรียนวัดท่าโสม (คุณสารราษฎร์บำรุง) โรงเรียนอนุบาลตราด โรงเรียนวัดอ่าวใหญ่  เป็นต้น

จากบทความนี้จะเห็นได้ว่า “TRAT Model” เป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงการศึกษา ด้วยการผสานจุดแข็งของท้องถิ่น ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และนวัตกรรมที่ตอบโจทย์อนาคต โมเดลนี้ไม่เพียงยกระดับผู้เรียนให้มีศักยภาพ แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้การศึกษาไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง


กรอบหลักสูตรจังหวัดตราด
https://drive.google.com/drive/folders/1vIf-eXNnR5Dll72wWVIj0whYN8HWh46S?usp=sharing

 

 


ผู้เขียน: น.ส.ณัฐวรี  ใจกล้า, นางอัชญา ศรีนาราง และ นายสุวัฒนพงษ์ ร่มศรี
กราฟิกดีไซน์เนอร์: น.ส.ณัฐวรี  ใจกล้า

กระบี่พลิกโฉมการศึกษา สร้างโอกาสด้วยนวัตกรรม
บทความล่าสุด