พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล เน้นย้ำโรงเรียนนำร่องฯ ต้องมีความพร้อม เลือกนวัตกรรมที่ใช่ ตั้งใจทำจริง อิง พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรม

13 มกราคม 2020

จากการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามนโยบายของรัฐบาลของ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 https://bit.ly/2QEAqlC) พร้อมด้วยที่ปรึกษา จำนวน 2 คน คือ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ อดีดปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายชลำ อรรถธรรม อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2563 ณ วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกปัตตานี เพื่อรับฟังการรายงานผลการขับเคลื่อนโครงการพิเศษตามนโยบายของรัฐบาลของหน่วยงานทางการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดโดยศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปบ.จชต.) ผู้เข้าร่วมประชุมในพื้นที่ อาทิ ศึกษาธิการจังหวัด ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประธานอาชีวศึกษา มีผู้แทนหน่วยงานส่วนกลางร่วมประชุมด้วย จำนวน 3 คน ได้แก่ นายสุทิน แก้วพนา ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายสราวุธ เดชมณีรัตน์ ผอ.สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายพิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การประชุมครั้งนี้มีเรื่องเสนอเพื่อทราบ จำนวน 4 เรื่อง คือ 1) โรงเรียนประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ และอาชีวศึกษาประชารัฐจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2) โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3) โรงเรียนคุณภาพประจำตำบล และ 4) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล มาสานต่อ/ติดตามนโยบายรัฐ ขจัดเกียร์ว่าง

พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวถึงบทบาทที่ท่านได้รับมอบหมายจากหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล (พลเอก ชัยชาญ ช้างมงคล) คือ ให้ติดตามงานที่รัฐบาลให้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแล้วมีการดำเนินงานหรือไม่อย่างไร และผลักดันให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งติดตามงานที่จะได้ริเริ่มขึ้นใหม่ของคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลเพื่อเสริมการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย

การศึกษาเพื่อความมั่นคง ตรงตามบริบทพื้นที่ มี พ.ร.บ. เป็นเครื่องมือ

นายมนูญ บุญชูวงศ์ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส ได้รายงานเกี่ยวกับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อที่ประชุมว่า พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 เป็นโอกาสที่จะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาอุปสรรคในการจัดการศึกษาได้อย่างมาก เช่น เรื่องการบริหารงบประมาณ การบริหารบุคคล และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาการจัดการศึกษาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มุ่งเน้นในเรื่องความมั่งคง ซึ่งหากมีประเด็นติดขัดสามารถใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ. เสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายเพื่อช่วยปลดล็อกให้กับโรงเรียนและหน่วยงานทางการศึกษา

พื้นที่นวัตกรรม จชต. ขอขับเคลื่อนเป็นรายจังหวัด คัดเลือกโรงเรียนนำร่องที่พร้อมและสมัครใจ

นางสาวนวลพรรณ วรรณสุธี รอง ผอ.ศปบ.จชต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สะท้อนภาพการดำเนินงานของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้ได้มีการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 มีมติเอื้อให้การขับเคลื่อนมีความคล่องตัวมากขึ้น เช่น การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเพื่อรับผิดชอบขับเคลื่อนแต่ละจังหวัด เตรียมรองรับการแยกดำเนินการเป็นรายจังหวัด การเห็นชอบเรื่องรายชื่อโรงเรียนนำร่อง โดยเน้นโรงเรียนที่มีความพร้อมและสมัครใจ สำหรับสภาพการดำเนินการที่ผ่านมาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความเข้าใจของบุคลากรที่เกี่ยวข้องเป็นสำคัญ เช่น จังหวัดนราธิวาสมีการบูรณาการงบประมาณเพื่อการพัฒนางานต่าง ๆ ให้เป็นเรื่องเดียวกัน มีการพัฒนาโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โดยร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สพฐ. พร้อม! วางระบบ กลไก และปัจจัยสนับสนุนการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรม ตาม พ.ร.บ.

นายพิทักษ์ โสตถยาคม รอง ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สพฐ. ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเป้าหมายเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 และการดำเนินงานของส่วนกลาง โดยเน้นว่า
1) แนวคิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เป็นการปรับ ecosystem ทางการศึกษาใหม่ ให้มีแสวงหานวัตกรรมด้านการจัดการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ ตอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยส่งเสริมให้พื้นที่จัดการตนเอง เน้นการมีส่วนร่วมและการจัดการศึกษาร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยมีฝ่ายนโยบายให้การส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นระบบ
2) ระบบกลไกตาม พ.ร.บ. มีการออกแบบกลไกและระบบสนับสนุนการทำงานที่ชัดเจนไว้ใน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มีคณะกรรมการขับเคลื่อนเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงหลักในพื้นที่ร่วมกับโรงเรียนนำร่อง หน่วยงานต้นสังกัด และภาคส่วนต่าง ๆ มีคณะกรรมการนโยบาย ที่พร้อมรับข้อเสนอที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับพื้นที่ ไปช่วยหาทางออกโดยการร่วมมือรวมพลังของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บางกรณีอาจไปถึงการขอเป็นมติคณะรัฐมนตรี มีสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (สบน.) เป็นหน่วยงานกลางของ สพฐ. ในการเชื่อมประสาน สนับสนุน ส่งเสริมพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดต่าง ๆ และเป็นฝ่ายธุรการของคณะกรรมการนโยบาย
3) ปัจจัยด้านงบประมาณขับเคลื่อน ขณะนี้มีปัจจัยเสริมในด้านงบประมาณเพื่อการดำเนินการของพื้นที่อยู่ 3 ส่วน หนึ่งคือ สำนักงบประมาณให้กรอบวงเงินสำหรับหน่วยงานต้นสังกัดไปสนับสนุนส่งเสริมงานพื้นที่ โดย สป.ศธ. ได้วงเงิน 34 ล้านบาท สพฐ. ได้วงเงิน 36 ล้านบาท หาก พ.ร.บ.งบประมาณผ่านวาระ 2-3 จะได้มีการพิจารณาจัดสรรต่อไป สองคือ สพฐ. จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดทีมวิชาการไปช่วยโรงเรียนจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นให้เสร็จก่อนเปิดเทอม สามคือ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ได้ประกาศเปิดรับข้อเสนอให้ทุนวิจัยสำหรับพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ชุดโครงการวิจัยละ 2-10 ล้านบาท ซึ่ง สพฐ. ได้แจ้งอย่างไม่เป็นทางการไปยังผู้เกี่ยวข้องแล้ว และจะแจ้งอย่างเป็นทางการไปยัง สพท. ศธจ. และ ศปบ.จชต. ในสัปดาห์หน้า

โรงเรียนนำร่องฯ ต้องมีความพร้อม เลือกนวัตกรรมที่ใช่ ตั้งใจทำจริง อิง พ.ร.บ.

พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ได้กล่าวถึงแนวทางการพัฒนานวัตกรรมและการเลือกโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาว่า โรงเรียนนำร่องในบางพื้นที่มีการพัฒนานวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม เพียงปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการภายในโรงเรียน ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม แต่ทำให้การจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการวัดและประเมินผลที่แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เช่น โรงเรียนขนาดเล็ก มีครูไม่ครบชั้น ได้จัดนักเรียนมาเรียนรวมกัน ห้องหนึ่งมีนักเรียน 2-3 ชั้นปี นั่งรวมกัน 1 โต๊ะ/กลุ่ม จัดครูมาช่วยกันดูแลและปรับการสอนให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละบุคคล ดังนั้น ประเด็นการเลือกใช้หรือพัฒนานวัตกรรมและมุมมองด้านงบประมาณของโรงเรียน จะต้องปรับเปลี่ยนความคิดของบุคลากรในโรงเรียนที่สมัครเป็นโรงเรียนนำร่อง ที่อาจเข้าใจว่า เมื่อสมัครเข้าร่วมเป็นโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้ว จะได้งบประมาณเพิ่ม หรือได้รับจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนเป็นเงินก้อน ที่สามารถนำมาใช้ทำอะไรก็ได้ตามใจต้องการ แต่ความเป็นจริงแล้ว มีกรอบงาน/กรอบการใช้เงิน ที่มีกระบวนการขั้นตอน ที่ต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ. เช่น การทำหลักสูตร การจัดซื้อสื่อการเรียนรู้ การประเมินผล ฉะนั้น โรงเรียนนำร่องจึงต้องเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมและมีความตั้งใจจริงในการพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีความพร้อมหรือไม่มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างจริงจัง ตาม พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ขอให้ ผอ.ศปบ.จชต. และศึกษาธิการจังหวัด ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ พิจารณาโรงเรียนที่มีความพร้อมเป็นโรงเรียนนำร่อง หากโรงเรียนไม่พร้อม/ไม่เข้มแข็ง ไม่ควรเสนอรายชื่อโรงเรียนเหล่านั้นในประกาศรายชื่อโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

Written by พิทักษ์ โสตถยาคม
Photo by พิมพ์ชนก สุภาพ (ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ศปบ.จชต.)
Artwork by เก ประเสริฐสังข์

Facebook Comments
เชิญชมนิทรรศการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เปิดประเด็น “หลักสูตรฐานสมรรถนะ และการเปลี่ยนแปลงโรงเรียนทั้งระบบ” ในงานวันครู 2563 วันที่ 16–17 ม.ค. 2563 ณ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กทม.ยุทธศาสตร์ของพื้นที่ฯ ต้องมี! หลักสูตรเพื่อนักเรียน ต้องทำ! ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเดินหน้าเต็มที่เป็นประธานการประชุมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ จ.ปัตตานี เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดและกำหนดแนวทางการจัดทำหลักสูตรเพื่อนักเรียน
บทความล่าสุด