พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) ในการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562 ณ โรงแรมซี เอส ปัตตานี จังหวัดปัตตานี โดยมีนายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ คณะครูและบุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียนนักศึกษา เข้าร่วมกว่า 400 คน
พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ กล่าวถึงการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดปัตตานี ว่า วัตถุประสงค์หลักของการกำหนดให้พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น 1 ใน 6 พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยมีจังหวัดปัตตานีเป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมให้มีสถานศึกษานำร่องในจังหวัดยะลาและนราธิวาสดำเนินการควบคู่ไปด้วย เพื่อต้องการพัฒนาและยกระดับนวัตกรรม แนวคิด และการบริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งมีอยู่แล้วให้มีความเข้มแข็งและสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีมีสถานศึกษาเข้าร่วมแล้วจำนวน 26 แห่ง และมีเป้าหมายนักเรียนกว่า 1.6 แสนคน แบ่งเป็นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 17 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 7 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง
ในส่วนของนวัตกรรมการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับว่ามีทุนเดิมที่ดี ๆ ที่เกิดจากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องด้วยความเข้มแข็งของผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาในหลายพื้นที่ อาทิ การพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน โรงเรียนประชาอุทิศบ้านโคกม่วง โดยใช้กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบลูกเต๋าคุณภาพ, การพัฒนาวิชาชีพครูด้วยนวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีแบบเปิด (Open Approach) : PLC ภาคปฏิบัติจริงในโรงเรียน กรณีศึกษา: โรงเรียนบ้านกะรุบีและโรงเรียนซอลีฮียะห์, โครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงเรียนมัธยมสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส, โรงเรียนวิถีอิสลาม ของโรงเรียนตัรบียะห์ และศูนย์ฝึกอบรมวิชาชีพประจำอำเภอยะหา ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคยะลา เป็นต้น นอกจากนี้สถานศึกษายังสามารถคิดค้นริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ นำสู่การพัฒนาเป็นนวัตกรรมได้ในอนาคต
ซึ่งแน่นอนว่าระบบบริหารจัดการการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ย่อมจะต้องมีความเข้มข้นและเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเป็นปัจจัยสำคัญในการจัดการเรียนการสอนโดยเน้นนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่ ที่จะส่งผลมากเพียงพอต่อการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของสถานศึกษาทุกแห่งทุกสังกัดที่เข้าร่วมโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่รอพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาเสร็จสมบูรณ์และประกาศใช้ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความพยายามดำเนินงานในหลายส่วนเพื่อให้การขับเคลื่อนงานมีความต่อเนื่อง อาทิ การศึกษาและพิจารณาปรับลดระเบียบขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ทั้งงบประมาณและการบริหารงานบุคคล ให้เอื้อต่อการขับเคลื่อนงานได้ตรงกับความต้องการพัฒนาและบริบทของพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ตลอดจนเตรียมการให้มีสถานศึกษานำร่องในจังหวัดยะลาและนราธิวาส เมื่อกฎหมายประกาศใช้ เพื่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดทั้งสองแห่งจะได้เสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต่อไป
ขอแสดงความชื่นชมผู้นำเสนอ ที่รวบรวมข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นในการดำเนินงานขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากทุกจังหวัดสามารถยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ก็จะทำให้การพัฒนาโรงเรียนมีความก้าวหน้ามากขึ้นทีละส่วนในแต่ละจังหวัด เมื่อนั้นก็จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลัก 4 ประการของการขับเคลื่อนการทำงาน โดยสิ่งสำคัญของการทำงานในพื้นที่พหุวัฒนธรรมเช่นนี้ เรื่องของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนถือว่าต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อเนื่องจึงจะช่วยให้งานประสบความสำเร็จได้ในที่สุด
ดังเช่นความก้าวหน้าการขับเคลื่อนการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่มีความมุ่งมั่นทุ่มเท เสียสละ จนเกิดเป็นภาพความสำเร็จในครั้งนี้ ดังนั้นทุกคนจึงเปรียบเสมือนเพื่อนร่วมชีวิตร่วมการทำงานกับผม ขอให้คงความดีเหล่านี้ไว้ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ ให้อยู่ร่วมกันอย่างดีและมีความสุข พร้อมน้อมนำศาสตร์พระราชาในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” มาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ช่วยเหลือและให้เกียรติซึ่งกันและกันในทุกศาสนาของประเทศไทย รวมทั้งนำตัวอย่างดี ๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ มาปรับใช้หรือขยายต่อในพื้นที่ใกล้เคียง อาทิ การอยู่ร่วมกันของชุมชนในสังคมพหุวัฒนธรรม : กรณีศึกษาตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี เป็นต้น
นายไกรศร วิศิษฏ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า จังหวัดปัตตานีมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนจังหวัด ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ ยุทธศาสตร์ด้านสังคม และยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง เน้นงาน “ขจัดภัยยาเสพติด เร่งเศรษฐกิจให้เฟื่องฟู สร้างบ้านเมืองให้น่าอยู่ เชิดชูคนดี” โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมทั้งจังหวัดปีละ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งธุรกิจการศึกษาเป็นผลิตภัณฑ์มวลรวมอันดับสามที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดปีละ 6,806 ล้านบาท และครองอันดับผลิตภัณฑ์มวลรวมอย่างต่อเนื่อง จึงนับว่า “การศึกษา” มีความสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด ด้วยการประสานงานขับเคลื่อนเพื่อสร้างคุณภาพและประสิทธิภาพการศึกษาภายในจังหวัด การจัดกิจกรรมโครงการให้ครูและโรงเรียน ตลอดจนนักเรียนได้เข้าร่วม เพื่อสร้างการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนและบูรณาการการสอน ที่จะพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอน อาทิ การศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study), การศึกษาชั้นเรียนวิธีแบบเปิด (Open Approach) เป็นต้น
ในส่วนการขับเคลื่อนงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ได้มีการจัดกิจกรรมและโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์จังหวัด อาทิ การคัดแยกขยะในสถานศึกษา อีกทั้งสถานศึกษาต่าง ๆ ได้ดำเนินการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมด้านการเกษตร ประมง การเลี้ยงสัตว์ ของวิทยาลัยเทคโนโลยีการเกษตรและประมงปัตตานี, สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรมและชุมชน ของวิทยาลัยเทคนิคปัตตานีและวิทยาลัยอาชีวศึกษาปัตตานี, นวัตกรรมเพื่อสร้างทัศนคติในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมเข้มแข็ง เป็นต้น ทั้งนี้ ในฐานะประธานกรรมการศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี มีความยินดีที่จะขับเคลื่อนงานนวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เกิดผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์และกรอบเวลาที่กำหนด
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวรายงานว่า ตามที่ ศธ. มีนโยบายเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการจัดการศึกษาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 จึงได้มีการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้เกิดรูปแบบการบริหารจัดการใหม่ในระดับพื้นที่ ส่งเสริมให้สถานศึกษามีคุณภาพ มีความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างทักษะในศตวรรษที่ 21 และใช้นวัตกรรมทางการศึกษาและการเรียนรู้พัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสม ตลอดจนการบริหารงานบุคคลและการบริหารจัดการทั่วไปมีประสิทธิภาพตามบริบทของพื้นที่จนเป็นที่ยอมรับของชุมชนและสังคม และสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ โดยมีเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของโครงการคือ เพื่อคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษา พร้อมทั้งดำเนินการให้นำนวัตกรรมนั้นไปใช้ในสถานศึกษาอื่นในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ, เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา, เพื่อกระจายอำนาจและให้อิสระแก่หน่วยงานทางการศึกษาและสถานศึกษานำร่องในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการ ตลอดจนเพื่อสร้างและพัฒนากลไกในการจัดการศึกษาร่วมกัน ของทั้งภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่
สรุปภาพผลการระดมความคิดเห็นและแนวทางการขับเคลื่อน
ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
1) ความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดปัตตานี: โดยนายชูศิลป์ วรเดช ศึกษาธิการจังหวัดปัตตานี สะท้อนว่า มีโรงเรียนแสดงความสมัครใจเข้าร่วมการพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 26 แห่ง แบ่งเป็น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 17 แห่ง สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) 7 แห่ง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2 แห่ง มีนักเรียนเป้าหมายหลัก จำนวน 1.6 แสนคน โดยมีเป้าหมายก้าวหน้าการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ
มีเป้าหมายพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะ 3R 8C มีทักษะคิดวิเคราะห์ และทักษะชีวิต สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ โดยดึงทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วมในการพัฒนาการเรียนรู้กับสถานศึกษา พร้อมปรับปรุงแหล่งเรียนรู้ โดยเฉพาะห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ให้มีบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ ในส่วนของการบริหารจัดการสถานศึกษา จะเน้นการมีส่วนร่วมจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงเรียนและครูมากขึ้น
สำหรับการจัดการเรียนการสอนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของจังหวัดปัตตานี ได้นำรูปแบบ วิธีการ และนวัตกรรมการศึกษามาใช้หลายส่วน อาทิ กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจากการลงมือทำและใช้กระบวนการคิด (Active learning), การสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC), การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) และวิธีแบบเปิด (Open Approach) โดยใช้โจทย์สถานการณ์ เป็นปัญหาปลายเปิดในการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นต้น โดยคาดหวังจะให้ครูได้รับการพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ สถานศึกษาได้รับการยอมรับจากชุมชนจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดให้มีการนิเทศติดตามเพื่อการพัฒนาต่อไป
แนวทางการปรับปรุงเพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา คือ การปรับโครงสร้างเวลาเรียนที่เหมาะสมมากขึ้น การพัฒนานักเรียนให้อ่านออกเขียนได้ และใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร รวมทั้งจัดหาสื่อและตำราเรียนที่มีความเหมาะสมในแต่ละช่วงชั้น การลดการประเมินต่าง ๆ ตลอดจนปรับเวลาของการบรรจุครูเพื่อไม่ให้เกิดการทิ้งห้องเรียนกลางคัน
2) ความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา: นายปรีชา สุกใส ศึกษานิเทศก์ ศึกษาธิการจังหวัดยะลา สะท้อนถึงการเตรียมขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาว่า มีเป้าหมายเน้นการประกอบอาชีพ มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข อ่านออกเขียนได้ เน้นศาสนานำมาใช้ชีวิตประจำวันอย่างถูกต้อง รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้ในโรงเรียนอย่างเป็นระบบ โดยเชิญทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการศึกษา พร้อมออกแบบระบบบริหารจัดการแบบดิจิทัล และสร้างเครือข่ายการพัฒนา ตลอดจนประสานความร่วมมือวิทยากรในท้องถิ่น เพื่อให้ความรู้ภูมิปัญญาต่าง ๆ ในโรงเรียน
โดยมีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่โดดเด่นหลายส่วน อาทิ สร้างศูนย์การเรียนรู้ในโรงเรียน 5 ด้าน (ด้านการท่องเที่ยว ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านอาชีพ ด้านคุณภาพ ด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรม), สร้างเครือข่ายนวัตกรรมทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน, รีสอร์ทการศึกษาพัฒนาแหล่งเรียนรู้, คู่มือออนไลน์ ทั้งการเรียนการสอน การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยว ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาชีพ คุณภาพ ด้านภาษาและศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น, การสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของเครือข่าย เป็นต้น
แนวทางการปรับปรุงเพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา คือ การจัดหลักสูตรในแต่ละช่วงชั้นให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ อาทิ ช่วงชั้นที่ 1 (ป.1-3) ควรเน้นวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ เพื่อเน้นให้อ่านออกเขียนได้ เป็นต้น, จัดให้มีหลักสูตรท้องถิ่น เน้นภาษาหรือศาสนาตามบริบทในพื้นที่นั้น, จัดหาตำราที่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน, การลดการประเมิน และปรับระบบนิเทศติดตามให้มีความต่อเนื่อง ในส่วนของเรื่องครูมีความสำคัญมาก ที่จะต้องจัดครูวิชาเอกให้ตรงกับความต้องการและมีจำนวนเพียงพอ โดยอาจปรับระเบียบงานบริหารบุคคลเป็นการเฉพาะในพื้นที่นี้ รวมทั้งการลดกิจกรรมจากหน่วยงานภายนอก เพื่อให้ครูมีเวลาสอนอย่างเต็มที่
3) ความก้าวหน้าการดำเนินงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส: นายมนูญ บุญชูวงศ์ ศึกษาธิการจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ได้มีการประชุมหารือเพื่อเตรียมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษามาระยะหนึ่งแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้อ่านออกเขียนได้ มีจุดเด่นในเรื่องของภาษาและการมีงานทำ มีคุณธรรมจริยธรรม และเคารพในความต่าง ด้วยหลักสูตรที่ความยืดหยุ่น และจัดการเรียนรู้ในบริบทของท้องถิ่นได้ ส่วนโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และมีบุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อม ๆ กับประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เน้นการสร้างการรับรู้เป็นสำคัญ และร่วมวางแผน กำหนดบทบาทการทำงาน และขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน จากนั้นจึงมีการนิเทศติดตามงานเพื่อการพัฒนา และรายงานขยายผลในรูปแบบเครือข่ายคู่พัฒนา
โดยมีนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนที่โดดเด่นหลายส่วน อาทิ ทฤษฎีการพัฒนาการรู้หนังสือ และความสามารถในการอ่านออกเขียนได้, ศาสตร์พระราชา เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพื่อเป็นแนวทางหลักนำมาปรับใช้กับการจัดการศึกษา, การพัฒนาบทเรียนร่วมกัน (Lesson Study) และวิธีแบบเปิด (Open Approach) โดยใช้โจทย์สถานการณ์, การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning: PBL), โครงงานคุณธรรม เป็นต้น
แนวทางการปรับปรุงเพื่อพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา คือ การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมเดิมให้เข้มแข็ง พร้อมต่อยอดหรือคิดค้นสิ่งใหม่ตอบโจทย์ความต้องการในแต่ละพื้นที่ การกระจายอำนาจอิสระแก่หน่วยงานจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาต่อยอดกลไกการทำงานให้มีความแน่นแฟ้นต่อเนื่อง และมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม