“ทำ PA อย่างไร
ให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา”
กิจกรรม Sandbox Clinic EP.01 “ทำ PA อย่างไรให้ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา” เป็นกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Online เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการทำข้อตกลงในการพัฒนางาน (PA) เพื่อการประเมินวิทยฐานะ ซึ่ง PA ได้ประกาศใช้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวจารุนันท์ แก้วทองนาค ผู้อำนวยการภารกิจระบบตำแหน่งและวิทยฐานะที่ 1 สำนักงาน ก.ค.ศ. นายร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม สพม.กท.1 และ นางจารุวรรณ์ เลิศศรี ครูโรงเรียนบ้านปะทาย สพป.ศก.4 และดำเนินรายการโดย นายทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
จากกิจกรรมดังกล่าว (คลิก) มีประเด็นที่น่าใจที่จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านทุกท่าน ซึ่งผู้เขียนขอสรุปสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้
ท่านสามารถรับชมการประชุมกิจกรรมย้อนหลังด้านล่างนี้ และดาวน์โหลดเอกสารประกอบได้ที่ คลิกที่นี่
ที่มาที่ไปของการทำ PA (Performance Agreement)
ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะประสบความสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อการทำงานของบุคลากรทุกคนมุ่งสู่การพัฒนาโรงเรียน PA (Performance Agreement) หรือ ข้อตกลงการพัฒนางาน ใช้เพื่อเลื่อนเงินเดือน คงวิทยฐานะ ขอ/ให้มีวิทยฐานะ ซึ่งการทำ PA นั้น ครู ผอ. ศึกษานิเทศก์ เจ้าหน้าที่เขต ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีวิทยฐานะ ก็ต้องทำทุกคน การทำ PA จะช่วยเชื่อมโยงการพัฒนานักเรียน เข้ากับการทำงานของครู หากครูพัฒนานักเรียนได้ดี นอกจากผลลัพธ์ที่ดีจะเกิดขึ้นกับเด็กแล้ว จะส่งผลต่อความก้าวหน้าทางวิชาชีพของครู รวมถึง ผอ. ด้วยเช่นกัน
ลักษณะสำคัญของ PA
- ลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน เพราะใช้ได้กับการ เลื่อนเงินเดือน คงวิทยฐานะ และ ใช้ขอมี/เลื่อนวิทยฐานะ โดยต้องประเมินทุกปีเพื่อใช้เลื่อนเงินเดือน และ คงวิทยฐานะ เมื่อประเมินครบ 3 ปี ปีที่ 4 ใช้ขอมี/เลื่อน วิทยฐานะได้
- PA นี้เป็นของ “ผู้เขียน” ดังนั้นจะกำหนดอย่างไร ให้นึกถึงบริบทหน้างานที่ตัวเองเจอเป็นหลัก
- ผู้ทำ PA จะได้ทราบจุดแข็ง จุดอ่อน ปัญหา ที่ใช้ในการพัฒนาการสอนปีถัดไป
- PA มุ่งมองที่ ผลลัพธ์การเรียนรู้ > ผลสัมฤทธิ์ ไม่เน้นการประเมินจากเอกสาร แต่ดูจากการขับเคลื่อนจัดการเรียนรู้ของครู
การเริ่มต้นทำ PA
PA ไม่ได้มีแค่การเขียนแบบฟอร์มให้ถูกต้องหรือเขียนให้ผ่าน แต่ คือ การวางแผนพัฒนางานจากบริบทหน้างานที่ตนเองเจอ ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีระบบแตกต่างกัน รวมถึงนวัตกรรมที่ใช้ และ ผลลัพธ์ที่คาดหวัง ดังนั้น ในการเริ่มต้นทำ PA นอกจากศึกษาเกณฑ์ที่ประกาศ โดย ก.ค.ศ. เป็นแนวทางคร่าว ๆ แล้ว ก็ควรมองที่บริบทภายในโรงเรียนว่ามีระบบหลัก ระบบสนับสนุน อะไรบ้าง ผลลัพธ์ที่คาดหวังคืออะไร ซึ่งจะนำมาใช้คิด “ประเด็นปัญหา (หรือก็คือประเด็นท้าทาย ในส่วนที่ 2)” ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน
ประเด็นดังกล่าว สะท้อนออกมาเป็นแนวทางการทำงาน การวัดและประเมินผล และอื่นๆ การจะนำมาซึ่งประเด็นท้าทายได้นั้น สามารถทำได้หลายวิธี เช่น
- ใช้กระบวนการ PLC เพื่อให้ครู และ ผอ. ได้มาร่วมกันพูดคุยถึงแนวทาง เป้าหมาย วิสัยทัศน์ ของโรงเรียน และปัญหาที่ต้องการแก้
- ผอ. เรียกรวมครูทั้งโรงเรียน กำหนดให้ครูทุกคนใช้ประเด็นท้าทายเดียวกัน เช่น ต้องการทำให้เด็กมีผลสัมฤทธิ์ มีคุณลักษณะที่ดีขึ้น จากนั้น ให้ครูไปทำ PA ของตนเองตามโจทย์ดังกล่าว
- ครู วิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องเรียนด้วยตนเอง จากนั้นลงมือเขียนประเด็นท้าทายที่ตัวเองอยากจะทำ แล้วนำไปพูดคุยกับ ผอ. ทีหลัง
*แนะนำเครื่องมือในการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาด้วย WHY-WHY-WHY Diagram
สิ่งสำคัญในการทำ PA คือ ควรเริ่มลงมือทำด้วยตนเองก่อน จากนั้นจึงดูตัวอย่างประกอบเพื่อให้ PA ที่ได้นั้นมาจากหน้างานของเราจริงๆ ส่วนการกำหนดตัวชี้วัด ทำได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเจาะจงเฉพาะผลสัมฤทธิ์ อาจพิจารณาจากพัฒนาการที่ดีขึ้น โดยใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วอย่าง formative assessment
6 เงื่อนไขสำคัญ ที่ช่วยให้การทำ PA ไม่เพิ่มภาระ และมุ่งสู่การพัฒนาผู้เรียน
- เก็บบันทึกงานที่ทำให้เป็นระบบ โดยอาจอัพโหลดไว้ใน cloud drive รวมถึงการเก็บข้อมูลเป็น word/ excel จะสามารถเรียกใช้งานได้ง่ายกว่า PDF
- กำหนดประเด็นท้าทายโดย มองลึกไปให้ถึงสาเหตุของปัญหา เช่น นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ -> ทำไมจึงมีผลสัมฤทธิ์ต่ำ -> เพราะนักเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง -> ทำไมถึงไม่รู้เรื่อง -> นักเรียนเรียนไม่ทันเพื่อน ต้องทวนหลายๆรอบ -> ทำยังไงให้นักเรียนทบทวนเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อค้นหาไปเรื่อยๆจะเจอแก่นลึกของปัญหา ครูแต่ละคนจะพบสาเหตุแตกต่างกัน มีวิธีแก้หลากหลาย
- ครู/ ผอ ไม่ต้องแก้ทุกปัญหาด้วยตัวคนเดียวทั้งหมด สามารถแบ่งภาระหน้าที่ให้แต่ละคนช่วยกันแก้ด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่รอบด้านมากขึ้น ขอเพียงอย่าลืมว่าอยู่วิทยฐานะไหนแล้วมีความคาดหวังอย่างไร
- เลือกวิธีดำเนินงาน โดยพิจารณาจากความพร้อม หรือความถนัดของตนเอง
- การเขียนตัวชี้วัดให้ประเมินจากห้องเรียน โดยให้ ผอ. และ ผู้ประเมินภายนอก ไปดูที่ห้องเรียน ไม่ใช่เอกสาร จะช่วยลดการขอเอกสารประเมินได้
- มีการพูดคุยกันภายในโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เช่น กำหนดตาราง PLC และ มีนิเทศการสอนอยู่เป็นประจำ หากมีการอัดคลิปมาวิพากษ์ ทั้งหมดนี้จะตอบโจทย์การทำ PA โดยอัตโนมัติ ไม่เพิ่มภาระใดๆ
บทบาทสำคัญของ ผอ.
- เพิ่มทักษะการบริหารงานวิชาการ
- พัฒนากระบวนการ PLC ให้เข้มแข็ง
- ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน
- สร้างเครือข่ายการเรียนรู้
PA ตอบโจทย์พื้นที่นวัตกรรมอย่างไร
- การกำหนดประเด็นท้าทาย เอื้อให้เกิดการพัฒนากระบวนการสอน/ บริหารจัดการในรูปแบบใหม่อย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้โรงเรียนเลือกใช้นวัตกรรมได้อย่างอิสระ
- มุ่งเน้นผลลัพธ์ ทั้งพัฒนาการผู้เรียน ด้าน A S K พร้อมทั้งให้ครูมีอิสระในการออกแบบเครื่องมือประเมิน (Formative & summative assessment) ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าเป้าหมายผู้เรียน คือ อะไร
- เอื้อต่อบริบทที่หลากหลาย โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำ
- PA แต่ละตำแหน่งเชื่อมโยงกัน ทำให้ Line of Accountability รวมถึงเชื่อมโยงบูรณาการ โครงสร้างการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมในพื้นที่
- เชื่อมโยงการเลื่อนเงินเดือน และ ขอ/มี วิทยฐานะ ลดภาระงานครูและการประเมินที่ซ้ำซ้อน
คำถามเพิ่มเติม
1. การเขียน PA ไม่ระบุเป็นรายวิชาได้หรือไม่
ตอบ ส่วนที่ 1 ยังต้องเขียนเป็นรายวิชาเนื่องจากการปรับใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะยังไม่เกิดขึ้นทั้งประเทศ (ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลง กคศ. จะปรับรูปแบบให้เหมาะสมในอนาคต)
ส่วนที่ 2 ประเด็นท้าทาย ไม่จำเป็นต้องระบุรายวิชา ยึดตามที่ครูรับผิดชอบได้เลย
2. การอัดคลิปวิดีโอ ทำอย่างไร
ตอบ อัดคลิปวิดีโอในห้องเรียนที่แสดงสมรรถนะครูได้ดีที่สุด จะเป็นห้องเรียนปกติ ออนไลน์ หรือนอกสถานที่ก็ได้ ขอเพียงแค่เป็นคลิปที่ภาพ เสียง มีคุณภาพเพียงพอต่อการประเมิน ไม่ต้องตัดต่อใด ๆ
3. มีความไม่มั่นใจเรื่อง การทำวิทยฐานะ เนื่องจากเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับ ว.21 หรือ ว.17 ควรทำแบบใด
ตอบ สามารถอ่านคำตอบและศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ https://otepc.go.th/
Facebook
ข่าวเกี่ยวกับการประเมินวิทยฐานะ
ผู้เขียน : ทัฬหวิชญ์ ฐิติรัตน์สกุล นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
กราฟิกดีไซน์เนอร์: อิศรา โสทธิสงค์, เก ประเสริฐสังข์
ผู้อัพโหลดคอนเทนต์: ปราชญาพร แช่ใจ